fbpx

Home / article / Postcards from London และการเติบโตของฟาน.ปีติ ผ่านสายตาของโอ๊ต-มณเฑียร

Postcards from London และการเติบโตของฟาน.ปีติ ผ่านสายตาของโอ๊ต-มณเฑียร

godaypoets

Sep 12, 2019

สัมภาษณ์และภาพ: นพดล เลิศเอกสิริ

ลองนึกย้อนกลับไปในวันที่โลกของเรายังไม่มีเทคโนโลยี 4G 5G การจะส่งความคิดถึงหาใครสักคน หรือบ่นระบายอะไรสักอย่าง เราต้องใช้ความพยายามเป็นอย่างมาก ไม่มีรูปโปรไฟล์ให้เห็น ไม่มีไลน์ให้ส่ง ต้องนึกหน้าใครคนนั้นในใจ แล้วเขียนโปสต์การ์ด หรือจดหมายไปหา ข้อความเหล่านั้นใช้เวลาเดินทางไปถึงผู้รับเนิ่นนานกว่าสมัยนี้มาก แต่น่าแปลกที่ความรู้สึกบนแผ่นกระดาษกลับยังคงเด่นชัด ผ่านไปกว่าร้อยปี เทคโนโลยีเข้ามาแทนที่การเขียนจดหมาย แต่กระนั้นการส่งโปสต์การ์ดก็ยังไม่สูญหายไปจากสังคม กลายเป็นของมีค่าน่าสะสมด้วยซ้ำ คล้ายว่าคุณค่าบางอย่างไม่เคยเลือนหาย เช่นเดียวกับพี่น้องคนสนิทคู่นี้ เมื่อรู้ว่าศิษย์น้องอย่าง ฟาน-ปีติชา จะไปเรียนต่อปริญญาโทที่อังกฤษ โอ๊ต-มณเฑียร ศิษย์พี่ผู้เคยโลดแล่นอยู่ในลอนดอนกว่าหกปี จึงทิ้งโจทย์ไว้ว่า เธอต้องส่งโปสต์การ์ดกลับมาให้เดือนละใบ เป็นสัญญาใจของพวกเขาสองคน

ก่อนใบที่หนึ่ง การพบกันครั้งแรก 

ฟาน: ตอนนั้นฟานเห็นพี่ก้อง-ทรงกลด กำลังอ่านต้นฉบับ London Scene ของพี่โอ๊ตอยู่ ก็เลยบอกแกไปว่า เฮ้ย คนนี้น่าสัมภาษณ์มาลงคอลัมน์นะคะพี่ พี่ก้องก็สนับสนุน ซึ่งจริงๆ ฟานแอบมี Hidden Agenda ว่า ตอนไปสัมภาษณ์พี่โอ๊ต จะขอปรึกษาเรื่องการเรียนต่ออังกฤษ (ยิ้ม)

โอ๊ต: แวบแรกที่เจอฟานคือคิดถึงตัวเองสมัยก่อน เรามองเห็นทั้งความเป็นนักวาดภาพประกอบ แล้วก็นักเขียน ที่ต้องทำการบ้าน ต้องถาม ต้องสัมภาษณ์ เลยรู้สึกเอ็นดู หลังจากนั้น ฟานก็ขอนัดเจอกับเราอีกครั้งเพื่อขอคำปรึกษาจริงจัง ซึ่งเราก็ยินดีมาก ตอนที่เห็นได้เห็นพอร์ตฟอลิโอของน้อง ยิ่งรู้สึกเหมือนเห็นตัวเองเข้าไปอีก เห็นความพยายามจะทำโปรเจ็กต์ หาเงิน พร้อมๆ กับหาตัวเอง คืองานมีทั้งความเป็นส่วนตัว แต่ก็ต้องตอบโจทย์ด้วย ซึ่งมันเป็นสิ่งที่นักวาดภาพประกอบทั้งหลายต้องเจอในช่วงอายุนั้น หลังจากดูพอร์ตของฟาน เรามั่นใจว่ายังไงน้องก็ได้ไป แต่เขาไม่เชื่อ

ฟาน: เพราะตอนนั้นเรารู้สึกว่าเราเป็นตัวจิ๋ว ที่ไม่มีอะไรเลย ไม่มั่นใจ เหมือนเป็นช่วงค้นหาอยู่ ยังไม่ได้มีความมั่นคงในสไตล์ ไม่รู้สึกว่ามันสวยพอที่ฉันจะโชว์คนอื่นด้วย คือต้องใช้ความกล้ามากที่ต้องโชว์งานชุดนั้นให้พี่โอ๊ตดู 

โอ๊ต: และวันนั้นที่คุยกัน ก็เลยตั้งโจทย์ให้กับฟานว่า ถ้าฟานได้ไปฟานต้องส่งโปสต์การ์ดให้เราอย่างน้อยเดือนละใบ 

ทำไมถึงให้โจทย์นี้ โปสต์การ์ดมันสำคัญอย่างไร 

โอ๊ต: เพราะถ้าเราย้อนกลับไปให้คำปรึกษากับตัวเองได้ สิ่งนี้จะเป็นสิ่งที่เราอยากทำ อยากให้มีคนให้โจทย์นี้กับเรา เพราะการส่งโปสต์การ์ด หรืออะไรถึงใคร จะทำให้ได้คิด ได้ทบทวน และสะท้อนกับตัวเองอยู่ตลอดเวลา ไม่เหลิงเหมือนเราตอนนั้น (หัวเราะ) เราว่ามันเป็นช่วงเวลาที่สำคัญของชีวิต ถ้าได้ปรึกษา ได้พูดเรื่องการเปลี่ยนแปลง ความกลัว ต้องออกจาก Comfort Zone ได้มองตัวเองผ่านเครื่องมือนี้ ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี

ส่งมาครบทุกเดือนไหม 

โอ๊ต: ครบนะ ก็ค่อยๆ มาเรื่อยๆ บางเดือน ถ้ายุ่งก็จะห่างไปบ้าง แต่ก็ยังเก่งมากที่ส่งมาตลอด ดีใจนะ เพราะจริงๆ ตอนนั้นเราก็กลับมาจากลอนดอนแล้ว สำหรับเราสิ่งนี้เลยเป็นส่วนเล็กๆ ของลอนดอนที่เดินทางมาหาเราที่บ้านทุกเดือน ทำให้หายคิดถึงลอนดอนได้นิดหน่อย อย่างใบนี้มาจาก William Morris Museum ซึ่งเป็นมิวเซียมอีกแห่งที่เรารัก แต่ไม่ได้เขียนถึงใน London Museum พอฟานส่งอันนี้มาก็รู้สึกว่าดีจังเลย เหมือนได้กลับไปอีก

แล้วฝั่งคนให้ล่ะ รู้สึกยังไง กดดันรึเปล่า

ฟาน: ไม่เลย สนุกมาก คือเราเป็นคนชอบส่งโปสต์การ์ดอยู่แล้ว แต่ละเดือนเราก็จะมานั่งคิดว่า จะสรุปหรือเล่าอะไรให้พี่โอ๊ตฟังดี เหมือนต้องรายงานครูอีกคนหนึ่ง บางช่วงเฮิร์ต บางช่วงได้ทดลองทำอะไรใหม่ๆ หรือเจออะไรแล้วนึกถึงพี่โอ๊ตก็จะเขียนถึง การส่งหาพี่โอ๊ตมันต่างจากการคนอื่นๆ ตรงที่ เราสามารถพูดได้ทุกเรื่อง ไม่เฉพาะแต่ด้านที่สวยงาม เพราะเขาเข้าใจว่าเราเผชิญอะไรอยู่ เขาผ่านสิ่งนี้มาแล้ว ซึ่งเป็นการคุยฝั่งเดียวด้วยนะ เหมือนคุยกับพระเจ้า เพราะพี่โอ๊ตไม่เคยตอบเลย (หัวเราะ) 

โอ๊ต: เราจงใจไม่ตอบ เหมือนเรื่องนี้ไง คุณพ่อขายาว (Daddy Long Legs) ที่ว่ามีคนให้ทุนการศึกษา แล้วให้เขียนจดหมายมาหาตลอด เราจะได้อ่านจดหมายจากฝั่งเดียวซึ่งเป็นฝั่งตัวเอก เราก็รู้สึกประมาณนั้น เรามองว่าสิ่งนี้มันเป็นที่ปลอดภัย เป็นพื้นที่ส่วนตัว ที่ให้เขาค่อยๆ โต ค่อยๆ รู้จักตัวเอง และจริงๆ ก็คุยกันทางเฟสบุ๊กบ้างอยู่แล้ว

แต่แล้ววันหนึ่งโปสต์การ์ดจากโอ๊ต ก็ส่งมาถึงที่บ้าน

ฟาน: ใช่ คือปลื้มมาก เป็นใบเดียวที่ได้ก็จริง แต่ว่าพี่โอ๊ตวาดรูปให้ด้วย เหมือนแบบได้สิ่งประทานจากพระเจ้า ซึ่งมาพร้อมกับหนังสือ Paris Souvenir ตอนนั้นรู้ว่าพี่โอ๊ตจะออกหนังสือแต่ไม่คิดว่าจะส่งมาให้เลยถึงอังกฤษ ดีใจมาก อย่างน้อยก็รู้ว่าสิ่งที่เราเขียนไปให้มันถึงนะ 

โอ๊ต: เคยคุยกับฟานเล่นๆ ว่า ถ้าวันนึงฟานดัง จะเอาโปสต์การ์ดที่ได้ทั้งหมดมาจัดเป็นนิทรรศการ 

ใบนี้ที่ชอบ 

โอ๊ต: เราชอบใบ Dare to Love Yourself เพราะนอกจากจะเป็นการวาดสไตล์สานเส้น Etching อันแรกๆ ที่ฟานทำส่งมาให้ เราชอบคำนี้มาก มันคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราเหมือนกันตอนที่เราไปนู่น ซึ่งเราถือว่าประสบความสำเร็จในการใช้ชีวิตนะ เพราะมันทำให้เรากล้าที่จะรักตัวเองในแบบที่เราเป็น ไม่ว่างานเราจะเป็นแบบไหน รูปเป็นยังไง เราไม่ได้วาดให้คนอื่นอีกต่อไป เราวาดเพื่อตัวเอง

ฟาน: ใบนี้มาจากสองอย่าง หนึ่งคือ ช่วงนั้นเราสับสนว่าจะวาดรูปแนวไหนดี มหาลัยที่เราไปเรียนมีเวิร์กช็อปเต็มไปหมดทุกเทคนิค จะ Silk Screen (การพิมพ์ตะแกรงไหม), Etching (การสานเส้น), หรือจะทำอะไรก็ได้ เลยถามพี่โอ๊ตว่าฟานควรทำยังไงดี เราควรมุ่งไปทางเดียวเลย หรือเราควรจะแบบลองทุกอย่าง ซึ่งพี่โอ๊ต ก็ย้อนกลับมาถามว่าแล้วเราคิดยังไง อีกอย่างคือตอนนั้นเราอกหักด้วย ทำให้เราเสียเซลฟ์ มีคำถามเกิดขึ้นมากมาย ตัวเรายังไม่ดีพอใช่ไหม แล้วเราที่ดีเป็นยังไง มันเขวทั้งชีวิต และการทำงาน ช่วงนั้นเลยเป็นช่วงค้นหาสำหรับเรา ซึ่งสุดท้ายเราก็ค้นพบว่ามันคือการทำสิ่งที่ตัวเองชอบนั่นแหละ ชอบหนังสือแบบนี้ ชอบวาดรูปแบบนี้ก็ทำไปเลย ชอบแต่งตัวแบบนี้ก็แต่งไปเลย ไม่ต้องสนใจว่าใครว่ายังไง ก่อนที่เราจะไป เราไม่ได้ชอบตัวเอง แต่พออยู่ที่นั่นเราได้เรียนรู้ว่าจะทำยังไงให้เรารักตัวเอง และกลายเป็นคนที่เรารัก

“เราชอบใบ Dare to Love Yourself เราชอบคำนี้มาก มันคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราเหมือนกันตอนที่เราอยู่ที่นู่น มันทำให้กล้าที่จะรักตัวเองในแบบที่เป็น ไม่ว่างานจะเป็นแบบไหน รูปเป็นยังไง เราไม่ได้วาดให้คนอื่นอีกต่อไป เราวาดเพื่อตัวเอง”

ใบไหนที่สะท้อนให้เห็นว่าฟานลำบาก 

โอ๊ต: น่าจะเป็นใบช่วงทำธีสิส เพราะฟานเป็นคนที่เครียดกับมาตรฐานตัวเองมาก ถ้าตั้งไว้เท่านี้ ฟานจะเพิ่มขึ้นไปอีก ช่วงนั้นจะเห็นเลยว่าที่วาดมาคือรีบ แล้วข้างหลังก็เขียนประมาณว่า หนูไม่ไหวแล้วค่ะ ช่วงนี้เหนืื่อยมาก เดือดมาก แต่สุดท้ายก็ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี งานโปรเจ็กต์จบก็สวย

ฟาน: แต่ฟานไม่ค่อยชอบนะ รู้สึกมันไม่ใช่ลูกรักของเรา ซึ่งเป็นแบบนี้ตลอดเลยกับงานธีสิสคือสุดท้ายเราจะไม่ได้ชอบมันขนาดนั้น เพราะว่าคิดเยอะไป หรือหาเหตุผลต่างๆ ให้มันมากเกิน แต่ถึงไม่ชอบเนื้อหา เราชอบลายเส้น และสไตล์ ซึ่งก็นำมันมาต่อยอดกับหนังสือเราด้วย

โอ๊ต: สุดท้ายมันก็กลับมาสู่ประเด็นที่ว่า บางทีมันอาจจะไม่ได้อยู่ที่ผลลัพธ์ แต่เป็นเรื่องกระบวนการที่เราได้โต ที่เราได้คิด งานชิ้นสุดท้ายเราอาจจะไม่ชอบมัน แต่จริงๆ ตัวเราเปลี่ยนไปแล้ว อันนั้นมันมีค่ามากกว่างานที่สวยเสียอีก

การเปลี่ยนแปลงของฟาน ที่ได้สัมผัสผ่านโปสต์การ์ด

โอ๊ต: เรารู้สึกว่าฟานโตขึ้นจริงๆ อย่างใบที่เป็นรูปหมาดีดกีต้า ฟานเขียนมาว่า ‘นิยามของความสวยคืออะไร ก่อนหน้านี้ฟานคิดว่าตัวเองรู้แล้ว แต่พอมาเรียนก็รู้สึกว่าจริงๆ มันมีกรอบที่เราใส่ไว้ให้ตัวเอง และเหมือนเราได้ทำลายกรอบนั้นลง’ อย่างที่ฟานบอกคนที่ไปจากไทยก็จะรู้สึกว่าความสวยคืออย่างนี้ งานที่ดีคืออย่างนี้ เราไม่ควรจะทำอย่างนี้ แต่พอไปอยู่ลอนดอน มันเป็นสเน่ห์ของเมืองที่มีพื้นที่ให้กับคนทุกแบบ คุณจะเป็นอะไรก็ได้ ทำให้เรากล้าที่จะตั้งคำถามกับกรอบที่เราเคยมี พอได้อ่านอันนี้ก็ดีใจ เห็น Coming of Age ของฟานประมาณนึง

คนอังกฤษวันนี้ส่งโปสต์การ์ดกันไหม

โอ๊ต: ส่งนะ ส่วนมากก็จะช่วงเทศกาล จริงๆ เราก็ไม่สามารถพูดแทนคนทั้งชาติได้ แต่ในอดีต คนที่เรารู้สึกนับถือ และศรัทธาอย่างออสการ์ ไวลด์ หรือ เวอร์จิเนีย วูล์ฟ เขาก็เขียนโปสต์การ์ด เขียนจดหมายถึงคนที่รักอยู่ตลอด หรืออย่างคนไทยเอง ถ้าไปดูสมัยก่อน อย่างตอนที่ ร.5 เสด็จประพาสยุโรปแล้วส่งพระราชหัตถเลขากลับมาที่บ้าน ได้อ่านแล้วก็เห็นภาพเลยว่าพระองค์คิดยังไง เราว่าสิ่งนี้มันสนุก เพราะทำให้เราเห็นทั้งภาพของที่นั่น และความคิดของพวกเขาเหล่านั้น 

ฟาน: ซึ่งในสมัยนี้ มันสามารถเปลี่ยนเป็นส่งข้อความทางโทรศัพท์หากันก็ได้นะ แต่เรารู้สึกว่าความพิเศษของโปสต์การ์ดคือการที่เราได้เห็นลายมือ แล้วการได้เห็นลายมือมันเหมือนเราได้เห็นชีวิตเขาจริงๆ อย่างที่พี่โอ๊ตบอก

โอ๊ต: เราว่ามันคือความพิเศษของสิ่งพิมพ์ เป็นสเน่ห์ของการเก็บความทรงจำด้วยลายมือ คำ หรือรูปวาด สิ่งเหล่านี้มันเอาอย่างอื่นมาแทนไม่ได้ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นโปสต์การ์ด หรือกระทั่งหนังสือ มันดีต่อใจสำหรับคนแบบเรา 

ฟาน: อย่างเมื่อวานไปนั่งรื้อว่าเราได้โปสต์การ์ดอะไรมาบ้างตอนที่เราอยู่อังกฤษ แต่ละอันมันทำให้ความทรงจำฟุ้งขึ้นมาทันที ใบนั้นเราเคยไปเจอสิ่งนี้กับเขา ใบนี้เราคิดถึงเขาตอนที่เราเขียน คือเราสามารถนั่งอยู่กับมันเป็นวันได้เลยนะ

“ความพิเศษของโปสต์การ์ดคือการที่เราได้เห็นลายมือ แล้วการได้เห็นลายมือมันเหมือนเราได้เห็นชีวิตเขาจริงๆ” 

(ฟานถามพี่โอ๊ต) สุดท้ายที่ฟานกลับมา พี่โอ๊ตยังเห็นว่าฟานเหมือนพี่โอ๊ตอยู่ไหม

โอ๊ต: เหมือน เพราะสวยขึ้น (หัวเราะ) เหมือนตรงที่เราเห็นฟานผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลง และฟานมีหนังสือหนึ่งเล่มที่ภูมิใจ London Book Sanctuary ไม่ต่างจากเราที่ตอนนั้นกลับมาก็ทำ London Scene ซึ่งจริงๆ ฟานทำอะไรเยอะกว่าที่เราทำอีกนะ แต่อย่างว่า ดอกไม้แต่ละดอกก็บานไม่เหมือนกัน การได้เห็นฟานในเวอร์ชั่นเป็นฟานเอง มันก็ชื่นใจ ถือว่าฟานได้ปริญญาใจอีกใบหนึ่งจากเรา 

สนใจสั่งซื้อ London Book Sanctuary หนังสือเล่มแรก ของ ฟาน.ปีติ และ London Museum หนังสือเล่มล่าสุดของ โอ๊ต มณเฑียร ได้ที่:

https://godaypoets.com/product/london-book-sanctuary

https://godaypoets.com/product/london-museums/

East side story เมื่อยุโรปมืด – ตะวันออกหม่น

อาจกล่าวได้ว่าหนังสือ ‘ยุโรปมืด’ ของ ‘พีรพัฒน์ ตัณฑวณิช’ คือหนังสือที่นำเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์โดยเล่าเรื่องผ่านสถานที่ มากกว่าการเป็นหนังสือท่องเที่ยวที่แทรกเกร็ดประวัติศาสตร์

view more

คุยกับ พีรพัฒน์ ตัณฑวณิช “ยุโรปมืด” แล้วเอเชียสว่างไหม

หลังจากเจ็ดปีในต่างแดน โดยเรียนปริญญาโทที่ญี่ปุ่นสองปี และต่อปริญญาเอกที่แคนาดาอีกห้าปี ตั๊บ-พีรพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์และนักเขียนเจ้าของผลงาน “ยุโรปมืด” กลับมาเมืองไทยพร้อมปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์การพัฒนา และปัจจุบันทำงานให้กับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หลังจากเราตีพิมพ์ต้นฉบับของเขาจนเป็น Best Seller มานาน วันนี้อะบุ๊กเพิ่งได้พบหน้าค่าตากัน เราจึงชวนเขามาคุยกันสารพัดเรื่อง ทั้งการเมือง เศรษฐศาสตร์ และสงครามโลก ที่หลายคนอยากรู้ว่าจะเกิดขึ้นอีกไหมในชั่วชีวิตนี้ (แทบ) ทุกราชวงศ์เป็นลูกหนี้ชาวยิว ในหนังสือผมพูดถึงชาวยิวซึ่งเป็นชนชาติที่ถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองไปมากมาย และในขณะเดียวกัน รู้ไหมครับว่าตระกูลที่มั่งคั่งที่สุดก็ยังคงเป็น House of Rothschild ซึ่งคือยิวเหมือนกัน รวยมานาน และยังคงรวยอยู่ เป็นเจ้าของสถาบันการเงิน มีอิทธิพลทางการเงินสูงมากต่อโลก ราชวงศ์ไหนเปิดสงครามก่อน เขาก็จะไฟแนนซ์อีกฝั่งหนึ่ง พูดง่ายๆ คือทุกราชวงศ์เนี่ยเป็นลูกหนี้เขาหมดเลย ไม่ทำสงครามเพราะกลัวจน หลายคนเชื่อว่าที่เราไม่รบกันเพราะทุกประเทศคำนึงถึงเศรษฐกิจ ผลประโยชน์อาจเป็นแรงผลักดันที่ดีที่ทำให้เราเลี่ยงสงคราม อย่างอะลีบาบาก็ไม่อยากให้อเมริกาเกิดสงคราม เพราะอะลีบาบาก็เทรดอยู่ในตลาดนิวยอร์ก จริงอยู่ เมื่อก่อนนายทุนค้าอาวุธย่อมสนับสนุนให้เกิดสงคราม แต่ตอนนี้ถ้าเป็นสงครามสเกลใหญ่ ผมไม่มั่นใจว่ามันจะดีกับเขาหรือเปล่านะ เขาอาจจะอยากให้มีสเกลเล็กแล้วทุ่มไปกับรีเสิร์ช เพราะทุกวันนี้ เวลารบกันมันไม่ใช่ทหารราบรบกันแล้วครับ มันเป็นการรบด้วยรีเสิร์ชเสียเยอะ จริงๆ ผมไม่ค่อยรู้เรื่องพวกนี้นะครับ แต่ความเชื่อส่วนตัว ผมคิดว่าชั่วชีวิตผมไม่น่าจะได้เห็นสงครามสเกลใหญ่ขนาดนั้นอีกแล้ว แต่สงครามเล็ก ๆ น้อย […]

view more

ภาพถ่ายและตัวอักษรที่สะท้อนตัวตนของ ADDCANDID ในปกหนังสือ ‘A(dd)-perture’

พีรพัฒน์ วิมลรังครัตน์ หรือ ADDCANDID ช่างภาพมากฝีมือระดับ Leica Thailand Ambassador ได้มาออกหนังสือที่เล่าเรื่องราวหลังเลนส์กล้องของเขา เขาถ่ายทอดมันออกมาด้วยสำนวนภาษาขี้เล่นและอารมณ์ดี โดยมีภาพถ่ายที่สวยและจับจังหวะอย่างเฉียบคมของเขาเป็นส่วนประกอบ สองสิ่งนี้กลายเป็นแรงบันดาลใจเบื้องหลังการออกแบบปกของ ’29thwinter’ ที่ตีความทั้งสองอย่างออกมาในรูปแบบของเธอ “ปกเล่มนี้เริ่มจากการเลือกรูปกันในกอง โดยมีโจทย์ว่าต้องเป็นรูปที่แสดงถึงสไตล์การถ่ายรูปของผู้เขียนอย่างชัดเจน เราจึงพยายามเลือกรูปที่ให้ความรู้สึกของการถูก snap และมีความ candid ในแบบของเขา การเลือกรูปที่ใช่นั้นค่อนข้างยาก เพราะรูปถ่ายของเขาสวยหมดทุกรูปเลย แต่เซตภาพที่เราชอบมากที่สุดคือเซต ‘ปารีส’ โดยเฉพาะรูป ‘the kiss’ ที่สำหรับเรามันยังเป็นรูปที่ใช่เสมอ แม้ว่ามันจะเคยใช้เป็นปก photobook ของเขาไปแล้วก็ตาม  การเลือกใช้ฟอนต์ต่างกันในชื่อหนังสือบนปก เพราะเราอยากให้มีลูกเล่นที่สื่อถึงคาแรคเตอร์ความเป็นกันเองของผู้เขียน ซึ่งสอดคล้องกับเนื้อหาสนุกๆ ด้านในเล่ม การวางชื่อพาดตรงกลางเป็นความตั้งใจให้ตัววงเล็บคาดตรงปากของทั้งสองคนพอดี เพื่อให้ภาพดูน่าค้นหามากยิ่งขึ้นจากการที่เราได้ปิดบังบางส่วนไป เมื่อเราได้รูปกับฟอนต์ที่พอดีแล้ว องค์ประกอบอื่นๆ และสีที่เลือกจึงใช้เท่าที่จำเป็น ด้วยแนวคิดที่อยากให้มันออกมาแบบ minimal แต่ดูโดดเด่นไม่จืดชืด” สั่งซื้อหนังสือ ‘A(dd)-perture’ โดย ADDCANDID ได้แล้วที่ https://godaypoets.com/product/add-perture/

view more