Home / article / Book / คุยกับ พีรพัฒน์ ตัณฑวณิช “ยุโรปมืด” แล้วเอเชียสว่างไหม
คุยกับ พีรพัฒน์ ตัณฑวณิช “ยุโรปมืด” แล้วเอเชียสว่างไหม
a book Publishing
Nov 25, 2019

หลังจากเจ็ดปีในต่างแดน โดยเรียนปริญญาโทที่ญี่ปุ่นสองปี และต่อปริญญาเอกที่แคนาดาอีกห้าปี ตั๊บ-พีรพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์และนักเขียนเจ้าของผลงาน “ยุโรปมืด” กลับมาเมืองไทยพร้อมปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์การพัฒนา และปัจจุบันทำงานให้กับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หลังจากเราตีพิมพ์ต้นฉบับของเขาจนเป็น Best Seller มานาน วันนี้อะบุ๊กเพิ่งได้พบหน้าค่าตากัน เราจึงชวนเขามาคุยกันสารพัดเรื่อง ทั้งการเมือง เศรษฐศาสตร์ และสงครามโลก ที่หลายคนอยากรู้ว่าจะเกิดขึ้นอีกไหมในชั่วชีวิตนี้
(แทบ) ทุกราชวงศ์เป็นลูกหนี้ชาวยิว
ในหนังสือผมพูดถึงชาวยิวซึ่งเป็นชนชาติที่ถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองไปมากมาย และในขณะเดียวกัน รู้ไหมครับว่าตระกูลที่มั่งคั่งที่สุดก็ยังคงเป็น House of Rothschild ซึ่งคือยิวเหมือนกัน รวยมานาน และยังคงรวยอยู่ เป็นเจ้าของสถาบันการเงิน มีอิทธิพลทางการเงินสูงมากต่อโลก ราชวงศ์ไหนเปิดสงครามก่อน เขาก็จะไฟแนนซ์อีกฝั่งหนึ่ง พูดง่ายๆ คือทุกราชวงศ์เนี่ยเป็นลูกหนี้เขาหมดเลย
ไม่ทำสงครามเพราะกลัวจน
หลายคนเชื่อว่าที่เราไม่รบกันเพราะทุกประเทศคำนึงถึงเศรษฐกิจ ผลประโยชน์อาจเป็นแรงผลักดันที่ดีที่ทำให้เราเลี่ยงสงคราม อย่างอะลีบาบาก็ไม่อยากให้อเมริกาเกิดสงคราม เพราะอะลีบาบาก็เทรดอยู่ในตลาดนิวยอร์ก จริงอยู่ เมื่อก่อนนายทุนค้าอาวุธย่อมสนับสนุนให้เกิดสงคราม แต่ตอนนี้ถ้าเป็นสงครามสเกลใหญ่ ผมไม่มั่นใจว่ามันจะดีกับเขาหรือเปล่านะ เขาอาจจะอยากให้มีสเกลเล็กแล้วทุ่มไปกับรีเสิร์ช เพราะทุกวันนี้ เวลารบกันมันไม่ใช่ทหารราบรบกันแล้วครับ มันเป็นการรบด้วยรีเสิร์ชเสียเยอะ จริงๆ ผมไม่ค่อยรู้เรื่องพวกนี้นะครับ แต่ความเชื่อส่วนตัว ผมคิดว่าชั่วชีวิตผมไม่น่าจะได้เห็นสงครามสเกลใหญ่ขนาดนั้นอีกแล้ว แต่สงครามเล็ก ๆ น้อย ๆ อินเดีย ปากีสถาน ตามแนวชายแดนอาจจะมี ตะวันออกกลางอาจจะมี ยังไม่น่าสงบเร็ว แต่สงครามระหว่างมหาอำนาจอย่างรัสเซีย จีน อเมริกา ผมไม่คิดว่าจะเกิดอีก แม้กระทั่งเกาหลีเหนือก็เหมือนกัน ความเชื่อของผมไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องทรัมป์-สีจิ้นผิง อะไรเลยนะ ผมแค่เชื่อว่ามันมีบริษัทยักษ์ๆ ที่มีล็อบบี้ยิสต์จำนวนมากที่จะทำทุกวิถีทางไม่ให้มันเกิด เพราะมันได้ไม่คุ้มเสีย
“สงครามระหว่างมหาอำนาจอย่างรัสเซีย จีน อเมริกา ผมไม่คิดว่าจะเกิดอีก แม้กระทั่งเกาหลีเหนือก็เหมือนกัน ความเชื่อของผมไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องทรัมป์-สีจิ้นผิง อะไรเลยนะ ผมแค่เชื่อว่ามันมีบริษัทยักษ์ๆ ที่มีล็อบบี้ยิสต์จำนวนมากที่จะทำทุกวิถีทางไม่ให้มันเกิด เพราะมันได้ไม่คุ้มเสีย”
“รวมกันเราอยู่” จริงหรือเปล่า
ยกตัวอย่าง Gazprom ที่เป็นบริษัทใหญ่ยักษ์ของรัสเซีย เขาเป็นผู้สนับสนุนหลักของฟีฟ่า แล้วถ้าเราดูกีฬาฟุตบอล Gazprom สปอนเซอร์แทบทุกการแข่งขัน ขณะที่รัสเซียเป็นคู่อริกับอเมริกา แต่ผมก็จำได้ว่าเห็นโฆษณา Gazprom อยู่ที่ซับเวย์ที่นิวยอร์กมากมาย การค้ามันข้ามกันไปกันมาหมด เลยทำให้ผมมีความคิดแบบนั้น ประมาณสัก 30-40 ปีที่ผ่านมา เราเชื่อว่า cooperation เป็นเรื่องดี แล้วก็เริ่มมี EU ลดกำแพงภาษี ศัพท์เทคนิคเขาเรียก Washington consensus หรือฉันทามติวอชิงตัน เป็น Free Trade เป็น Capital movement เปิดเสรีการค้า เป็น deregulation เหมือน EU แต่บังเอิญอเมริกาเป็นแกนนำในการเรื่องพวกนี้ ซึ่งมันมาควบคู่กับการให้กู้เงินช่วยเหลือไอเอ็มเอฟ แต่ 3-4 ปีให้หลังมานี้ โดยเฉพาะหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจ 2017 อเมริกาก็เป็นแกนนำในการต่อต้านฉันทามติวอชิงตันเสียเอง เพราะเขาเริ่มเห็นว่ามันมีผลเสียกับเขาเยอะเหมือนกัน คือโดยเฉพาะแถบมิดเวสต์ โรงงานย้ายไปจีน ย้ายไปเม็กซิโก ตรงโซนกลางประเทศ เขาเริ่มเห็น Labor movement เยอะ สะเทือนฐานเสียงเขาบางส่วน
การใช้ค่าเงินเดียวกันเกิดผลเสียมากกว่าดี
การใช้ค่าเงินสกุลเดียวก็ไม่ได้เป็นผลดีอย่างที่คิดกัน ทุกวันนี้เงินยูโรเองก็มีปัญหา คือกรีซ หรือประเทศแถบยุโรปตะวันออกและยุโรปตะวันตก ฐานะทางเศรษฐกิจมันต่างกันมาก การใช้ค่าเงินเดียวกันจึงเสี่ยงมาก เดิมมันง่ายเพราะเป็นการเทรดนู่นนี่ แต่เดิมพอประเทศมีปัญหา ค่าเงินก็จะอ่อนตัวเพื่อให้การส่งออกหรือการท่องเที่ยวก็ดีขึ้น แต่พอใช้ค่าเงินเดียว กรีซมีปัญหาแต่เยอรมันไม่มีปัญหา แล้วเศรษฐกิจของยุโรป บิ๊กโฟร์ของเขาก็คือ เยอรมัน สเปน อิตาลี ฝรั่งเศส รวมกันประมาณ 75% ไม่รวมอังกฤษนะครับ ดังนั้นประเทศเล็กๆ อย่างกรีซ ลัตเวีย เอสโตเนีย แทบไม่มีผลต่อการตัดสินใจอะไรของยูโร ปัญหาคือตอนเกิดวิกฤต รูปแบบเศรษฐกิจของสองกลุ่มนี้คนละเรื่องกันเลย แต่เขากลับต้องใช้อัตราแลกเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยเหมือนประเทศอื่นๆ มันยาก และไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อย่างอเมริกาประเทศเขาใหญ่จริง เขาใช้นโยบายการเงินเดียว แต่เขามีรัฐบาลกลาง พอมีปัญหาเขาใช้นโยบายภาษีช่วยได้ แต่พอเป็นยุโรปหรือเยอรมัน จะไปช่วยกรีซ ก็จะโดนปัญหาในสภาเขา เป็นหนึ่งในประเด็นที่ต่างชาติยังโต้เถียงกันอยู่จนทุกวันนี้
สัญญาณเศรษฐกิจไทยในปีหน้า
ผมเชื่อว่าปีต่อไปเศรษฐกิจน่าจะมีปัญหา มันเป็นดีเบตกันอยู่ เศรษฐกิจโลกไม่เคยโตต่อเนื่องกันมา 10 ปี แล้ว ล่าสุดสัญญาณหลายอย่างของทางอเมริกา เช่น ภาคอุตสาหกรรมการผลิตก็ไม่ค่อยจะดี เยอรมัน ญี่ปุ่น ก็เริ่มแย่ อเมริกากับจีนก็มากั้น Trade barrier ขึ้นมาอีก เริ่มส่งผลช็อกผันผวน เพราะฉะนั้นความเชื่อส่วนตัวผมนะครับ ผมเชื่อว่าถ้ามีหุ้นอยู่ให้รีบหาจังหวะขาย อสังหาฯ ก็นิ่งแล้ว ตลาดราคาอสังหาฯ บ้านเราปีล่าสุดไม่โตขึ้นนะ ถ้าเทียบกับปีที่แล้ว ห้องเปิดใหม่ในกรุงเทพฯ เฉลี่ย 4.3 ล้าน ปีนี้ 3.9 ล้าน ทั้งที่ปกติราคาห้องจะขึ้นตลอดติดต่อกัน ห้องที่ 2 ที่ 3 ยอดจองก็เริ่มชะลอ ตอนนี้มีเวียดนามครับที่เศรษฐกิจดีมาก ฟิลิปปินส์ก็กลับคืนมาแล้วหลังจากเป็นผู้ป่วยมานาน
EEC (โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก) ใช้เม็ดเงินลงทุนเยอะมาก เป็นหลักล้านล้าน แต่เป็นอุตสาหกรรมเก่าที่ Robotic ยังไม่มา เราพึ่งพารถยนต์ก็เป็นรถยนต์แบบน้ำมัน ฮาร์ดดิสก์ก็ใช้แบบ HDD แต่มือถือมันใช้ solid state drive ซึ่งเราผลิตไม่ได้ โน้ตบุ๊กทุกวันนี้ใช้ SSD เยอะขึ้น แต่เราก็ผลิต SSD ไม่ได้ รถยนต์พัฒนาเป็นรถไฟฟ้า เราก็เพิ่งเริ่มกัน เพราะฉะนั้นมันยังไม่น่าจะสดใสมากในระยะสั้นๆ นี้ แต่วิกฤตรุนแรงเหมือนตอนปี 2540 ผมว่าก็ไม่เกิด เพราะตอนนั้นภาคการเงินพังทั่วโลก ภาคอื่น ๆ พังหมด แต่ว่าเร็วๆ นี้ภาคการเงินไม่น่าจะพัง จะแค่ซึม ๆ
เขาบอกว่านักเศรษฐศาสตร์ทำได้สองอย่าง คือพยากรณ์อนาคตกับอธิบายว่าทำไมคำพยากรณ์ครั้งที่แล้วผิด เดี๋ยวถ้าเจอกันครั้งหน้าผมจะอธิบายให้ว่าทำไมผมบอกผิด (หัวเราะ)

“วิกฤตรุนแรงเหมือนตอนปี 40 ผมว่าก็ไม่เกิด เพราะตอนนั้นภาคการเงินพังทั่วโลก ภาคอื่น ๆ พังหมด แต่ว่าเร็วๆ นี้ภาคการเงินไม่น่าจะพัง จะแค่ซึม ๆ เขาบอกว่านักเศรษฐศาสตร์ทำได้สองอย่าง คือพยากรณ์อนาคตกับอธิบายว่าทำไมคำพยากรณ์ครั้งที่แล้วผิด เดี๋ยวถ้าเจอกันครั้งหน้าผมจะอธิบายให้ว่าทำไมผมบอกผิด (หัวเราะ)”
ประเทศไทยเทียบกับประชาคมโลก
ถ้าเทียบกับซีเรียเราก็ดีกว่าเยอะฮะ (หัวเราะ) สงบสุข ตอนผมเรียนที่ออตตาวา ประเทศแคนาดา มันเป็นเมือง bilingual แคนาดาเป็นประเทศที่เปิดรับผู้อพยพเยอะ และผมก็ไม่ใช่แค่เรียน ก็ใช้ชีวิตเจอกับผู้อพยพค่อนข้างเยอะ ดังนั้นก็จะมีเพื่อนเป็นชาวอัฟกัน ชาวเนปาล ฯลฯ อันนั้นปัญหาเขาหนักหน่วงกว่า แต่ถ้าเราเจอกับพวกเกาหลี ไต้หวัน ญี่ปุ่น หรือแคนาเดียนเอง เราก็จะทึ่งกับความมีประสิทธิภาพของเขา ยกตัวอย่างแคนาดามีนายกรัฐมนตรีทรูโด เคยโดนโจมตีเรื่องการใช้เงิน คือมันมีเงินค่าใช้จ่ายของเขาที่รัฐบาลให้ ซึ่งเขาก็เอามาจ้างแม่บ้านคนหนึ่งไว้ดูแลลูก พอหนังสือพิมพ์ลงข่าวนี้ คนก็โจมตี เขาก็รีบเปลี่ยนไปจ้างแม่บ้านคนนี้ด้วยเงินส่วนตัวทันทีเลย ในขณะที่ของเรา ผู้ใหญ่บางคนมีพลทหารอยู่แปดคนประจำบ้านตัวเองใช่ไหมครับ ปัญหาใหญ่ของเราคือรัฐบาลและระบบราชการ
ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ Decentralized มาก ระดับตำบล ระดับเทศบาล มีอิทธิพลและมีบทบาท ทุกอย่างขึ้นอยู่กับเทศบาลเมืองของเขา โครงสร้างญี่ปุ่นกับของเรามันคนละเรื่องเลย รถไฟของเขาก็แบ่งซอยย่อยมาก แล้วเปิดให้เอกชนเข้ามาจัดการ ที่พูดอย่างนี้เพราะราชการไทยชอบดูงานต่างประเทศ แล้วญี่ปุ่นก็เป็นประเทศยอดฮิตฮะ ไปกันอยู่นั่นแหละ แต่ผมว่าเราเรียนรู้จากเขาได้น้อยมาก เราไม่ค่อยหาความรู้ แม้กระทั่งเรื่องในประเทศของตัวเอง
วิกฤตความรู้ : คนรู้ไม่พูด คนพูดไม่รู้
ช่วงหนึ่งเวลาผมจะทดสอบว่าใครรู้จริงหรือเปล่า ผมจะถามเขาเรื่องจำนำข้าวครับ ในประเทศนี้มีคนที่รู้ละเอียดเรื่องจำนำข้าวน้อยมากนะครับ เพราะก่อนหน้านี้ข้อมูลมันขาดหาย แต่ทุกคนก็พูดกันใหญ่ ตัวเลขที่เขาพูดกันเจ็ดแสนล้าน กับแปดแสนล้าน พูดกันบนเวที หรือแม้กระทั่งคนนั้นคนนี้พูดกันต่อๆ มันไม่มีที่มาที่ไปเลยนะครับ เพราะตอนนั้นมันคือหน้าที่ของทีมผม ซึ่งแม้กระทั่งนายกรัฐมนตรีตอนนั้นเองยังไม่รู้ตัวเลขเลย ดังนั้นตัวเลขที่พูดกันไปทั่วนี่คือต้องมีใครสักคนคิดขึ้นมาถูกไหม หรือรายละเอียดของคดี ทำไมถึงติดคุก เรื่องพวกนี้ถ้าคนตอบว่าไม่รู้ คนนั้นพูดจริง บางคนตอบได้ แต่พอลงรายละเอียดก็ไม่รู้ แต่ถ้าคนไหนตอบได้หมดแบบละเอียดจริงๆ มีสองอย่างคือ หนึ่ง คนนั้นต้องเป็นคนขี้โม้ และสองคือเขาอ่านเยอะจริง เพราะตอนนั้นเอกสารที่ดีที่สุดของประเด็นรับจํานําข้าวคือคำตัดสินของศาล ซึ่งก็ไม่ครบในแง่การดำเนินนโยบาย แต่ในโลกออนไลน์เราและในโลกความจริง ผมพบผู้เชี่ยวชาญประเด็นรับจำนำข้าวจำนวนมาก ทั้งที่รัฐบาลจ้างผมเก็บข้อมูลเรื่องนี้ ผมยังหาข้อมูลที่สามารถสรุปให้ไม่ได้เลย เพราะแต่ละแห่งให้ข้อมูลไม่ตรงกัน แต่คนมากมายกลับพูดตัวเลขกันได้ นี่เป็นตัวอย่างวิกฤตการรับหรือส่งต่อข้อมูลของประเทศเรา
“ในโลกออนไลน์เราและในโลกความจริง ผมพบผู้เชี่ยวชาญประเด็นรับจำนำข้าวจำนวนมาก ทั้งที่รัฐบาลจ้างผมเก็บข้อมูลเรื่องนี้ ผมยังหาข้อมูลที่สามารถสรุปให้ไม่ได้เลย”
หนังสือประวัติศาตร์ที่เลือกจะ “เล่าไม่หมด”
สิ่งหนึ่งที่เห็นชัดคือทั้งญี่ปุ่นทั้งฝรั่งอ่านหนังสือเยอะกว่าเรามากครับ คือเขาอ่านกันเป็นปกติ ผมอ่านเฉลี่ยเดือนละ 3-5 เล่ม ถือว่าเป็นค่าเฉลี่ยปกติของที่โน่น ไม่ได้นับเป็นหนอนหนังสือนะครับ หนอนหนังสือที่โน่นคือประเภทอ่านดิกเค่นส์ 10 รอบ จำได้ทุกคำอย่างนี้ พวกสายวิชาการ เปิดห้องไปแล้วแบบ… มันจะตายก็เพราะหนังสือล้มทับนี่แหละ (หัวเราะ)
ผมชอบอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ เพราะบางทีเราเรียนรู้ปัจจุบันและตัดสินอนาคตได้จากมัน จุดยืนของผม ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร วิธีที่ดีที่สุดที่จะอธิบายว่าทำไมรัฐประหารถึงล้มเหลว คือพูดถึงความเฟลของการรัฐประหารครั้งที่ผ่านๆ มา เพราะแม่งก็ทำเหมือนเดิม ผมเรียนเศรษฐศาสตร์โมเดล การทำนายอนาคตเศรษฐศาสตร์คือการใช้ข้อมูลในอดีตเป็นรากฐานของการมองไปข้างหน้า มันอาจจะไม่ได้ซ้ำร้อยกันเป๊ะๆ เสียทีเดียว แต่เราจะพอเห็นภาพรวมบางอย่าง
ยกตัวอย่าง คนอเมริกันเขาเล่าประวัติศาสตร์ 200 ปีของเขา “ละเอียด” มาก สมรภูมิเกตตีส์เบิร์ก เขาเล่าขนาดว่านายพลอะไร ยกทัพอยู่ตรงไหน อธิบายชัดหมด แต่ของเราเหตุการณ์สำคัญมากมายไม่เคยอยู่ในหนังสือประวัติศาสตร์ ยกตัวอย่างง่ายๆ เกิดอะไรขึ้นในเดือนตุลาคม เพราะอะไร ผมเพิ่งหยิบหนังสือเรียนมัธยมหนึ่งของหลาน เปิดไปก็เจอเหมือนเดิม เป็นเรื่องยุคหิน แล้วก็ A.D. ยุคนี้ A.D. นู่น A.D. นี่ เริ่มมีการทำขวาน เริ่มทำอาวุธ ไปเรื่อยๆ แต่ไม่มีบางตอนที่สำคัญกับการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ยุคสมัยเรา แบบฝึกหัดก็ยังเป็นคำถามให้จำมาตอบ
ตอนผมเข้าธรรมศาสตร์ เขาฉายสารคดี อ.ป๋วย อึ้งภากรณ์ แล้วผมก็ถามรุ่นพี่ว่า อ.ป๋วย เขาเจ๋งอย่างไร รุ่นพี่เขาบอกว่าเป็นผู้ว่าแบงก์ชาติแล้วมาเป็นอธิการบดี ซึ่ง…แล้วไง ผ่านไปตั้งหลายปี ผมเริ่มศึกษาถึงได้รู้ว่า อ๋อ มนุษย์คนนี้โคตรเท่เลยนะ เหตุการณ์เดือนตุลาคม พฤษภาคม เกิดอะไรขึ้นบ้าง ทำไมเราไม่ให้เด็กเรียนรู้ในหนังสือประวัติศาสตร์ มันไม่จำเป็นว่าต้องเป็นความจริงแบบไหน หรือเข้าข้างฝ่ายไหน แต่แค่เป็น fact ก็ได้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น ไม่จำเป็นต้องแบ่งฝ่ายใครผิดใครถูกก็ได้
บางเรื่องพอเราไม่แม่นประวัติศาสตร์ตัวเอง ก็เกิดความงง เราคิดว่าคณะราษฎร์คือฝ่ายประชาธิปไตย ทหารคือฝ่ายอีกฝั่งหนึ่ง แต่มาดูกันจริงๆ แล้ว คณะราษฎร์มีบทบาทต่อประเทศนี้น้อยมาก เพราะเขามีอำนาจอยู่ถึงแค่พ.ศ. 2490 แล้วเขาก็โดนยึดอำนาจ จริงๆ เราอยู่ใต้การปรกครองของทหารมานานกว่า
อย่างญี่ปุ่นเองในประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่สอง เขาก็ไม่ใส่ความเลวร้ายของตัวเองเท่าไร ผมว่าอาจจะเป็นปัญหาของประเทศที่มาจากระบบฟาสซิสต์เหมือนกับเราครับ หนังสือเรียนประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นก็ยังทำให้คนญี่ปุ่นคิดว่าเขาเป็นเหยื่อสงครามโลกครั้งที่สอง เพราะเขาโดนทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ โดยที่เขาไม่ได้รู้ว่าเขาฆ่าคนจีนไปเท่าไร ในขณะที่เยอรมันเขายอมรับความจริงเรื่องนาซี และมีกฎหมายด้วยซ้ำว่าห้ามประกาศว่าเรื่องฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ไม่มีจริง คุยกับคนออสเตรีย เขาพาเด็กไปดูค่ายกักกันเป็นเรื่องปกติมาก หรือพาไปมิวเซียมสงคราม เพื่อให้เรียนรู้แต่เด็ก คนรุ่นผมจำนวนมากเกิดทันเหตุการณ์ Killing Fields ที่เขมร ค่ายก็อยู่ใกล้ชายแดนของเรา แต่เรากลับไม่รู้อะไรเกี่ยวกับมันเลย

“เหตุการณ์เดือนตุลาคม พฤษภาคม เกิดอะไรขึ้นบ้าง ทำไมเราไม่ให้เด็กเรียนรู้ในหนังสือประวัติศาสตร์ มันไม่จำเป็นว่าต้องเป็นความจริงแบบไหน หรือเข้าข้างฝ่ายไหน แต่แค่เป็น fact ก็ได้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น ไม่จำเป็นต้องแบ่งฝ่ายใครผิดใครถูกก็ได้”
ทำไมเราถึงจะคุยการเมืองไม่ได้
บ้านเรามีสุภาษิตว่าการเมืองกับศาสนาห้ามคุยกัน แต่ชาติอื่นเขาคุยกันได้นะฮะ ชาติอื่นเขาประกาศเลยว่าเชียร์ฝ่ายไหน เพราะไม่ได้รู้สึกว่าคนที่เลือกอีกฝั่งหรืออีกพรรคหนึ่งเป็นคนโง่หรือเลว ไปลงนรกซะ อะไรอย่างนี้ ผมเชื่อว่าโดยหลักการแล้วคนเราควรจะคุยการเมืองกับศาสนากันได้ แต่เอาจริงๆ ผมยอมรับว่าผมเองก็ไม่ค่อยคุยการเมืองกับที่บ้านมากเท่าไรแล้ว ไม่อยากมีปัญหากับที่บ้าน เพราะบ้านเราคุยเรื่องนี้แล้วมักจะมีปัญหากันเป็นการส่วนตัว เราไม่เคยแก้นิสัยตรงนี้ได้ เมื่อก่อนผมก็เคย aggressive กว่านี้นะ แล้วก็รู้สึกเองว่าเราไม่อยากเสียมิตรภาพ เลยกลายเป็นว่าพอเราไม่ได้ extreme ช่วงหลายปีก่อนที่การเมืองเราเข้มข้น ถ้าอยู่กับเสื้อเหลือง ผมก็จะโดนหาว่าเป็นเสื้อแดง พออยู่กับเสื้อแดงผมก็โดนหาว่าเป็นเสื้อเหลือง ตอนแรกผมก็คิดแหละว่าเผื่อเราจะเปลี่ยนใจเขาได้ แต่พอเราพยายาม นอกจากจะเปลี่ยนใจเขาไม่ได้แล้ว ยังเกิดคำถามว่าแล้วเราจะไปเปลี่ยนใจเขาทำไม
สุดท้ายเราแค่ต้องยอมรับคนคิดต่างให้ได้ แค่นั้นหรือเปล่า

East side story เมื่อยุโรปมืด – ตะวันออกหม่น
อาจกล่าวได้ว่าหนังสือ ‘ยุโรปมืด’ ของ ‘พีรพัฒน์ ตัณฑวณิช’ คือหนังสือที่นำเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์โดยเล่าเรื่องผ่านสถานที่ มากกว่าการเป็นหนังสือท่องเที่ยวที่แทรกเกร็ดประวัติศาสตร์

คุยกับ พีรพัฒน์ ตัณฑวณิช “ยุโรปมืด” แล้วเอเชียสว่างไหม
หลังจากเจ็ดปีในต่างแดน โดยเรียนปริญญาโทที่ญี่ปุ่นสองปี และต่อปริญญาเอกที่แคนาดาอีกห้าปี ตั๊บ-พีรพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์และนักเขียนเจ้าของผลงาน “ยุโรปมืด” กลับมาเมืองไทยพร้อมปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์การพัฒนา และปัจจุบันทำงานให้กับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หลังจากเราตีพิมพ์ต้นฉบับของเขาจนเป็น Best Seller มานาน วันนี้อะบุ๊กเพิ่งได้พบหน้าค่าตากัน เราจึงชวนเขามาคุยกันสารพัดเรื่อง ทั้งการเมือง เศรษฐศาสตร์ และสงครามโลก ที่หลายคนอยากรู้ว่าจะเกิดขึ้นอีกไหมในชั่วชีวิตนี้ (แทบ) ทุกราชวงศ์เป็นลูกหนี้ชาวยิว ในหนังสือผมพูดถึงชาวยิวซึ่งเป็นชนชาติที่ถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองไปมากมาย และในขณะเดียวกัน รู้ไหมครับว่าตระกูลที่มั่งคั่งที่สุดก็ยังคงเป็น House of Rothschild ซึ่งคือยิวเหมือนกัน รวยมานาน และยังคงรวยอยู่ เป็นเจ้าของสถาบันการเงิน มีอิทธิพลทางการเงินสูงมากต่อโลก ราชวงศ์ไหนเปิดสงครามก่อน เขาก็จะไฟแนนซ์อีกฝั่งหนึ่ง พูดง่ายๆ คือทุกราชวงศ์เนี่ยเป็นลูกหนี้เขาหมดเลย ไม่ทำสงครามเพราะกลัวจน หลายคนเชื่อว่าที่เราไม่รบกันเพราะทุกประเทศคำนึงถึงเศรษฐกิจ ผลประโยชน์อาจเป็นแรงผลักดันที่ดีที่ทำให้เราเลี่ยงสงคราม อย่างอะลีบาบาก็ไม่อยากให้อเมริกาเกิดสงคราม เพราะอะลีบาบาก็เทรดอยู่ในตลาดนิวยอร์ก จริงอยู่ เมื่อก่อนนายทุนค้าอาวุธย่อมสนับสนุนให้เกิดสงคราม แต่ตอนนี้ถ้าเป็นสงครามสเกลใหญ่ ผมไม่มั่นใจว่ามันจะดีกับเขาหรือเปล่านะ เขาอาจจะอยากให้มีสเกลเล็กแล้วทุ่มไปกับรีเสิร์ช เพราะทุกวันนี้ เวลารบกันมันไม่ใช่ทหารราบรบกันแล้วครับ มันเป็นการรบด้วยรีเสิร์ชเสียเยอะ จริงๆ ผมไม่ค่อยรู้เรื่องพวกนี้นะครับ แต่ความเชื่อส่วนตัว ผมคิดว่าชั่วชีวิตผมไม่น่าจะได้เห็นสงครามสเกลใหญ่ขนาดนั้นอีกแล้ว แต่สงครามเล็ก ๆ น้อย […]

ภาพถ่ายและตัวอักษรที่สะท้อนตัวตนของ ADDCANDID ในปกหนังสือ ‘A(dd)-perture’
พีรพัฒน์ วิมลรังครัตน์ หรือ ADDCANDID ช่างภาพมากฝีมือระดับ Leica Thailand Ambassador ได้มาออกหนังสือที่เล่าเรื่องราวหลังเลนส์กล้องของเขา เขาถ่ายทอดมันออกมาด้วยสำนวนภาษาขี้เล่นและอารมณ์ดี โดยมีภาพถ่ายที่สวยและจับจังหวะอย่างเฉียบคมของเขาเป็นส่วนประกอบ สองสิ่งนี้กลายเป็นแรงบันดาลใจเบื้องหลังการออกแบบปกของ ’29thwinter’ ที่ตีความทั้งสองอย่างออกมาในรูปแบบของเธอ “ปกเล่มนี้เริ่มจากการเลือกรูปกันในกอง โดยมีโจทย์ว่าต้องเป็นรูปที่แสดงถึงสไตล์การถ่ายรูปของผู้เขียนอย่างชัดเจน เราจึงพยายามเลือกรูปที่ให้ความรู้สึกของการถูก snap และมีความ candid ในแบบของเขา การเลือกรูปที่ใช่นั้นค่อนข้างยาก เพราะรูปถ่ายของเขาสวยหมดทุกรูปเลย แต่เซตภาพที่เราชอบมากที่สุดคือเซต ‘ปารีส’ โดยเฉพาะรูป ‘the kiss’ ที่สำหรับเรามันยังเป็นรูปที่ใช่เสมอ แม้ว่ามันจะเคยใช้เป็นปก photobook ของเขาไปแล้วก็ตาม การเลือกใช้ฟอนต์ต่างกันในชื่อหนังสือบนปก เพราะเราอยากให้มีลูกเล่นที่สื่อถึงคาแรคเตอร์ความเป็นกันเองของผู้เขียน ซึ่งสอดคล้องกับเนื้อหาสนุกๆ ด้านในเล่ม การวางชื่อพาดตรงกลางเป็นความตั้งใจให้ตัววงเล็บคาดตรงปากของทั้งสองคนพอดี เพื่อให้ภาพดูน่าค้นหามากยิ่งขึ้นจากการที่เราได้ปิดบังบางส่วนไป เมื่อเราได้รูปกับฟอนต์ที่พอดีแล้ว องค์ประกอบอื่นๆ และสีที่เลือกจึงใช้เท่าที่จำเป็น ด้วยแนวคิดที่อยากให้มันออกมาแบบ minimal แต่ดูโดดเด่นไม่จืดชืด” สั่งซื้อหนังสือ ‘A(dd)-perture’ โดย ADDCANDID ได้แล้วที่ https://godaypoets.com/product/add-perture/