fbpx

Home / article / “นานแล้วที่ไม่ได้ทำงานกับต้นฉบับที่สนุกขนาดนี้” ภาณุ บุรุษรัตนพันธุ์ กับภารกิจสวมวิญญาณ ทอม แฮงก์ส แปล ‘UNCOMMON TYPE’

“นานแล้วที่ไม่ได้ทำงานกับต้นฉบับที่สนุกขนาดนี้” ภาณุ บุรุษรัตนพันธุ์ กับภารกิจสวมวิญญาณ ทอม แฮงก์ส แปล ‘UNCOMMON TYPE’

a book Publishing

Jun 8, 2019

สัมภาษณ์และเขียน: ซัลมา อินทรประชา
พิสูจน์อักษร: เบญจพร หรูวรวิจิตร

ภาณุ บุรุษรัตนพันธุ์ หรือ “พี่ตึ๋ง” หรือ “ลุงตึ๋ง” ของน้องๆ ในวงการ เป็นชื่อแรกที่อะบุ๊กนึกถึงเมื่อจะแปลหนังสือของทอม แฮงก์ส เพราะมันเป็นเรื่องสั้นของอเมริกันชนในยุควินเทจ และภาณุเป็นนักแปลมือเก๋าที่เรียนจบและใช้ชีวิตที่นิวยอร์กมาร่วมหกปี พ่วงด้วยดีกรีอดีตบรรณาธิการ นิตยสาร เอสไควร์ (ประเทศไทย) และยังเป็นมือแปลวรรณกรรมอเมริกันสะท้อนยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นนิค ฮอร์นบี เรื่อง High Fidelity, About a Boy, How To Be Good หรือซีรีส์ Dark Tower สองเล่มแรกของสตีเฟน คิงส์ ไปจนถึงงานขึ้นหิ้งอย่าง Life of Pi ของยานน์ มาร์เตล

เพราะฉะนั้นถ้าภาณุออกปากว่า “นานแล้วที่ไม่ได้ทำงานกับต้นฉบับที่สนุกขนาดนี้” ก็ยินดีต้อนรับทอม แฮงก์ส เข้าสู่ทำเนียบนักเขียนมือดีแห่งยุคได้เลย

อาจกล่าวไม่ได้ว่าหนังสือเล่มนี้ระทึกขวัญสั่นประสาท เศร้าถึงขั้นเรียกน้ำตา หรือโรแมนติกจนจิกหมอน แต่หนังสือเล่มนี้จะทำให้คุณรู้จักความเป็นมนุษย์ของตัวคุณเอง ความไม่เพอร์เฟ็กต์ ชีวิตที่บ๊องๆ บวมๆ หรือแม้แต่ชีวิตที่ดูน่าอิจฉาที่สุดก็เถอะ ทอม แฮงก์ส จะบอกคุณว่ามันไม่จริงทั้งหมดหรอก ทั้งที่เขาเป็นดาราดังระดับโลก แต่เขากลับถ่ายทอดความเป็นคนธรรมดาได้อย่าง ‘ไม่ธรรมดา’

ปกติคุณตึ๋งติดตามหนังของทอม แฮงก์ส ไหม

ถ้าผมจะดูหนังของทอม แฮงก์ส มันจะไม่ได้เกิดจากอารมณ์ว่าหนังใหม่ของทอม แฮงก์ส มา! ผม-ต้อง-ดู! ผมไม่มีอารมณ์ติดดาราแบบนั้น (หัวเราะ) แต่มักจะไปบังเอิญได้ดูหนังที่มีเขาอยู่ในเรื่องมากกว่า เพราะโดยมากหนังที่เขาเลือกเล่นก็มักจะน่าดู มักจะสนุก 

ตอนแรกที่รู้ว่าทอม แฮงก์ส เขียนหนังสือ คุณคิดยังไง

เวลาที่นักแสดงเขียนหนังสือออกมา อย่างสตีฟ มาร์ติน หรือทีน่า เฟย์ ก็จะเป็นเรื่องราวที่วนอยู่กับตัวเอง ผมเลยไม่ได้คาดหวังอะไรที่มาจากนักแสดง แต่สำหรับงานชิ้นนี้จากแฮงก์ส เป็นเรื่องสั้นที่ เป็นเรื่องแต่งทั้งหมด ที่สำคัญคือสนุก บอกเลยว่าผมชอบเกือบทุกเรื่อง

สิ่งที่ทำให้ทอม แฮงก์ส เป็นทั้งนักแสดงและนักเขียนที่ดีคืออะไร

คนที่จะเป็นนักแสดงที่ดี นอกจากมีความสามารถในการแสดงออกแล้ว ก็ต้องเป็นคนช่างสังเกตอย่างมากเลย คือสังเกตสิ่งรอบตัว สังเกตความรู้สึกของตัวเอง ตอนนั้นเราเป็นไง ทำไมรู้สึกอย่างนั้น จะแสดงออกมาแค่ไหน ซึ่งผมว่ามันเป็นนิสัยที่น่าจะเอื้อกับคนที่จะเป็นนักเขียนด้วย ทำให้ทอม แฮงก์ส เขาสามารถเขียนให้เราเชื่อได้ ถึงจะเป็นเรื่องที่น่าเหลือเชื่อ

เอกลักษณ์ในงานเขียนของทอม แฮงก์ส คืออะไร

ถ้าพูดถึงเรื่องสำนวน ทอม แฮงก์ส แกก็เขียนเหมือนนักเขียนอเมริกันที่มีฝีมือ ภาษาไม่ได้ โอ๊ย เพริศแพร้วอะไร แต่อ่านแล้วดี อ่านแล้วมันใกล้ตัวเรา ภาษาดีทีเดียวละ คือถ้าเป็นอารมณ์ที่เสียใจก็คือ เออ เสียใจ ไม่ได้ฟูมฟายมาก แค่เรา…พลาดไปแล้ว แย่หน่อยเว้ย แต่ว่ามันก็จะดีขึ้นเอง มันเป็นความรู้สึกเหมือนว่าเขาอยู่ภายในตัวละคร ผมคิดว่ามันลงตัวกำลังดี เป็นคนเก่งทีเดียว

“ทอม แฮงก์ส เขียนเหมือนนักเขียนอเมริกันที่มีฝีมือ ภาษาไม่ได้เพริศแพร้ว แต่อ่านแล้วดี ถ้าเป็นอารมณ์ที่เสียใจก็คือ เออ เสียใจ ไม่ได้ฟูมฟายมาก แค่เรา…พลาดไปแล้ว แย่หน่อยเว้ย แต่ว่ามันก็จะดีขึ้นเอง มันเป็นความรู้สึกเหมือนว่าเขาอยู่ภายในตัวละคร ผมคิดว่ามันลงตัวกำลังดี เป็นคนเก่งทีเดียว”

ภาณุ บุรุษรัตนพันธุ์ กล่าวถึงทอม แฮงก์ส กับงานเขียน UNCOMMON TYPE: some stories

อย่างเรื่อง สุดสัปดาห์แสนพิเศษ เป็นเรื่องของเด็กในช่วงยุค 70 อย่างที่ผมเคยเขียนไว้ในคำนำว่า น่าจะเป็นทศวรรษสุดท้ายของความใสซื่อ เขาก็เขียนแทนเด็กด้วยความรู้สึกที่ไม่ได้เกินเลย เขาทำให้เรารู้สึกเหมือนกับตัวละครได้ คือเรื่องสั้นทั้ง 17 เรื่อง เล่าถึงความเป็นมนุษย์ได้อย่างละเอียด ตีแผ่ความเป็นคนออกมาได้น่าอ่านมาก 

มองเห็นตัวตนของทอม แฮงก์ส อยู่ในหนังสือไหม

ทอม แฮงก์ส เป็นนักแสดงที่ถ้าได้เจอตัวจริง เราคงไม่กลัวเขา ด้วยเพราะภาพลักษณ์สบายๆ มีความเป็นธรรมชาติของคน มีพื้นฐานจิตใจดี ในหนังสือของเขาก็เป็นแบบนั้น 

ความเป็นทอม แฮงก์ส ปรากฏค่อนข้างชัดเจนในแต่ละเรื่อง อย่าง คริสต์มาสอีฟ ปี 1953 ที่เกี่ยวกับความทรงจำของทหารผ่านศึกจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็อยู่ในความสนใจเดิมของทอม แฮงก์ส กับกลุ่มเพื่อนที่มีสตีเวน สปีลเบิร์ก ด้วย ถึงเป็นที่มาของการเกิดหนังเรื่อง Saving Private Ryan (1998) หรือ มหกรรมสัญจรในนาครแห่งแสงไฟ เล่าถึงดาราหนุ่มหน้าใหม่ที่เหมือนจะโชคดีเพราะหล่อเฉยๆ พอได้ไปโปรโมตหนังในยุโรปก็ดีใจ แต่มันไม่ได้รู้เลยว่าจะต้องเจอกับอะไร คงเป็นประสบการณ์ส่วนหนึ่งในวงการบันเทิงของเขา เรื่องนี้เขาเขียนแล้วตลกมาก และการที่นักแสดงอย่างทอม แฮงก์ส อยากจะเล่าเรื่องสั้นในรูปแบบของบทหนังก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ก็มีเรื่องสั้นตอนหนึ่งที่ถูกถ่ายทอดในรูปแบบนี้คือ พักกับเรา แถมยังเป็นบทหนังที่อ่านสนุกอีก ตอนแปลก็สนุกมากเพราะมีแต่เรื่องบ้าๆ

ยังมีเรื่อง ขอต้อนรับสู่ดาวอังคาร ที่เด็กหนุ่มตัวเอกต้องไปโต้คลื่นกับพ่อ ซึ่งการโต้คลื่นก็เป็นอีกสิ่งที่ทอม แฮงก์ส ชอบทำเช่นกัน ฉากในเรื่องต้องเป็นคนที่เล่นเซิร์ฟบอร์ดเอง ถึงจะบรรยายฉากเหล่านี้ได้ อย่างเครื่องพิมพ์ดีดก็เหมือนกัน มันเป็นสิ่งที่ทอม แฮงก์ส สะสมจนกลายเป็นเอกลักษณ์หนึ่งของเขา มันก็ถูกแทรกไว้ในทุกตอนของเรื่องสั้นตลอดเล่ม อย่างผมนั่งทำงานอยู่เนี่ย ต้องลุกไปค้นเอาเครื่องพิมพ์ดีดของตัวเองที่ไม่ได้ใช้มานานออกมาปัดฝุ่นส่งซ่อม ป่านนี้ยังไม่ได้คืนเลย (หัวเราะ)

อีกอย่างนะ…ทอม แฮงก์ส ติดกาแฟแน่นอน เกือบทุกตอนในเรื่องมีการพูดถึงกาแฟไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

“เครื่องพิมพ์ดีดก็เหมือนกัน มันเป็นสิ่งที่ทอม แฮงก์ส สะสมจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของเขา มันก็ถูกแทรกไว้ในทุกตอนตลอดเล่ม อย่างผมนั่งทำงานอยู่เนี่ย ต้องลุกไปค้นเอาเครื่องพิมพ์ดีดของตัวเองที่ไม่ได้ใช้มานานออกมาปัดฝุ่นส่งซ่อม ป่านนี้ยังไม่ได้คืนเลย” (หัวเราะ)

ภาณุ บุรุษรัตนพันธุ์ กับประสบการณ์การแปล Uncommon Type โดยทอม แฮงก์ส

ระหว่างการทำงานชิ้นนี้ ต้องมีการทำการบ้าน เตรียมข้อมูล หรือมีเรื่องท้าทายอะไรบ้าง

เป็นครั้งแรกของผมที่ได้แปลรวมเรื่องสั้น ซึ่งในฐานะคนที่ต้องทำงานสิบหน้าต่อวัน แปลหนังสือที่เป็นเรื่องยาว ใช้เวลา 2-3 เดือน เหมือนการทาสีบ้านทั้งหลังด้วยสีเดียวกัน ถึงจะเพลินแต่มันก็มีเบื่อบ้าง 

แต่สำหรับการแปลเรื่องสั้น เป็นการทาสีบ้านทั้งหลังที่ใช้สีห้องให้แตกต่างกันคนละสี มันสนุกกว่าตรงที่แต่ละเรื่องมีความแตกต่าง ทั้งโครงเรื่อง บรรยากาศ อารมณ์ และตัวละคร มันมีความหลากหลายในแต่ละตอน การทำงานแปลเล่มนี้เลยสนุกมากทีเดียว ไม่มีเบื่อเลย ถ้าเป็นเรื่องที่เราต้องฝืนพยายามแปล เรื่องที่ทำออกมาก็ไม่สนุก แต่ว่าต้นฉบับเขามาสนุกอยู่แล้ว ถ้าเราสนุกได้เท่าต้นฉบับที่มา เรื่องแปลก็จะสนุก ถ้าจะให้จิ้มว่าเรื่องหรือตัวละครที่ชอบก็จิ้มไม่ได้หรอก อาจจะตอบเหมือนขายของ แต่ว่าตอนทำงานอยู่กับเรื่องไหน ก็รู้สึกว่าเรื่องนั้นสนุกจริงๆ (หัวเราะ)

ถ้าถามว่าท้าทายมั้ย ยากมั้ย…ถ้าในส่วนของข้อมูล สมัยนี้ที่ข้อมูลทุกอย่างเข้าถึงง่ายจากกูเกิล ขอให้เราไม่ขี้เกียจ ทุกข้อมูลหาได้ไม่ยากอยู่แล้ว สำหรับส่วนอารมณ์ความรู้สึก ต้นฉบับพาผมไปได้ไม่ติดขัดอะไรเลย 

ในฐานะที่เคยใช้ชีวิตอยู่ที่อเมริกา และเรื่องราวในหนังสือก็มีฉากหลังเป็นสังคมอเมริกัน มีประสบการณ์ส่วนตัวที่เชื่อมโยงกับเรื่องราวในเล่มบ้างไหม

เวลาเขาพูดถึงตึกรามบ้านช่องในตอนที่เป็นฉากของนิวยอร์ก หรืออีสต์ไซด์ เวสต์ไซด์ ก็จะนึกออกว่าลักษณะมันเป็นยังไง ในตอน ไปหาคอสตัส ที่คนย้ายถิ่นเข้ามาอยู่ในนิวยอร์กครั้งแรก เวลาเข้าโรงหนัง หรือพักผ่อนตามสวนสาธารณะ ก็จะเข้าใจความรู้สึกได้ มองเห็นภาพตาม เพราะช่วงหน้าร้อนที่ในอพาร์ตเมนต์ไม่มีแอร์เนี่ย ตอนกลางคืนต้องออกมาเดินเล่นในสวนสาธารณะ อากาศดี มีหิ่งห้อย หรือไม่ก็เข้าโรงหนัง

หนังสือเล่มนี้ถือว่าค่อนข้างหนา ใช้เวลาในการแปลนานไหม และปรับอารมณ์ในการแปลจากเรื่องหนึ่งไปอีกเรื่องหนึ่งยังไง

ในแต่ละวันก็จะแปลไปได้สักสิบหน้าแล้วก็หันไปทำกิจวัตรทั่วไปอื่นๆ อย่างทำกับข้าวบ้าง เดินเล่น พักผ่อน ไม่ถึงกับต้องมีกิจกรรมล้างสมองอะไร แต่ที่ใช้เวลาเนี่ย มันไปนานตรงตอนเริ่ม เพราะโอ้เอ้ไปเรื่อย แต่ว่าหลังจากโดนสำนักพิมพ์เตือนมาหลายหน (หัวเราะ) ก็ค่อยๆ ปรับเข้าสู่โหมดคนขยันได้ พอลงมือทำงานทุกอย่างก็ลื่นไหลได้เรื่อยๆ เป็นงานที่สนุก

แล้วทำไมถึงเขียนในคำนำว่าขอโทษภรรยากับความบ๊องของตัวเอง

เนื่องจากเวลาที่ผมต้องทำงานเต็มที่เนี่ย เวลาที่ผมมีให้ภรรยาก็น้อยลง คำขอโทษที่เขียนไว้ในคำนำเลยเป็นเหมือนธรรมเนียม ออกตัวไว้ก่อน เท่านั้นแหละครับ (หัวเราะ)

Pre-order หนังสือ UNCOMMON TYPE: some stories พิมพ์ (ไม่) นิยม ได้ที่ https://godaypoets.com/product/uncommon-type/

East side story เมื่อยุโรปมืด – ตะวันออกหม่น

อาจกล่าวได้ว่าหนังสือ ‘ยุโรปมืด’ ของ ‘พีรพัฒน์ ตัณฑวณิช’ คือหนังสือที่นำเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์โดยเล่าเรื่องผ่านสถานที่ มากกว่าการเป็นหนังสือท่องเที่ยวที่แทรกเกร็ดประวัติศาสตร์

view more

คุยกับ พีรพัฒน์ ตัณฑวณิช “ยุโรปมืด” แล้วเอเชียสว่างไหม

หลังจากเจ็ดปีในต่างแดน โดยเรียนปริญญาโทที่ญี่ปุ่นสองปี และต่อปริญญาเอกที่แคนาดาอีกห้าปี ตั๊บ-พีรพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์และนักเขียนเจ้าของผลงาน “ยุโรปมืด” กลับมาเมืองไทยพร้อมปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์การพัฒนา และปัจจุบันทำงานให้กับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หลังจากเราตีพิมพ์ต้นฉบับของเขาจนเป็น Best Seller มานาน วันนี้อะบุ๊กเพิ่งได้พบหน้าค่าตากัน เราจึงชวนเขามาคุยกันสารพัดเรื่อง ทั้งการเมือง เศรษฐศาสตร์ และสงครามโลก ที่หลายคนอยากรู้ว่าจะเกิดขึ้นอีกไหมในชั่วชีวิตนี้ (แทบ) ทุกราชวงศ์เป็นลูกหนี้ชาวยิว ในหนังสือผมพูดถึงชาวยิวซึ่งเป็นชนชาติที่ถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองไปมากมาย และในขณะเดียวกัน รู้ไหมครับว่าตระกูลที่มั่งคั่งที่สุดก็ยังคงเป็น House of Rothschild ซึ่งคือยิวเหมือนกัน รวยมานาน และยังคงรวยอยู่ เป็นเจ้าของสถาบันการเงิน มีอิทธิพลทางการเงินสูงมากต่อโลก ราชวงศ์ไหนเปิดสงครามก่อน เขาก็จะไฟแนนซ์อีกฝั่งหนึ่ง พูดง่ายๆ คือทุกราชวงศ์เนี่ยเป็นลูกหนี้เขาหมดเลย ไม่ทำสงครามเพราะกลัวจน หลายคนเชื่อว่าที่เราไม่รบกันเพราะทุกประเทศคำนึงถึงเศรษฐกิจ ผลประโยชน์อาจเป็นแรงผลักดันที่ดีที่ทำให้เราเลี่ยงสงคราม อย่างอะลีบาบาก็ไม่อยากให้อเมริกาเกิดสงคราม เพราะอะลีบาบาก็เทรดอยู่ในตลาดนิวยอร์ก จริงอยู่ เมื่อก่อนนายทุนค้าอาวุธย่อมสนับสนุนให้เกิดสงคราม แต่ตอนนี้ถ้าเป็นสงครามสเกลใหญ่ ผมไม่มั่นใจว่ามันจะดีกับเขาหรือเปล่านะ เขาอาจจะอยากให้มีสเกลเล็กแล้วทุ่มไปกับรีเสิร์ช เพราะทุกวันนี้ เวลารบกันมันไม่ใช่ทหารราบรบกันแล้วครับ มันเป็นการรบด้วยรีเสิร์ชเสียเยอะ จริงๆ ผมไม่ค่อยรู้เรื่องพวกนี้นะครับ แต่ความเชื่อส่วนตัว ผมคิดว่าชั่วชีวิตผมไม่น่าจะได้เห็นสงครามสเกลใหญ่ขนาดนั้นอีกแล้ว แต่สงครามเล็ก ๆ น้อย […]

view more

ภาพถ่ายและตัวอักษรที่สะท้อนตัวตนของ ADDCANDID ในปกหนังสือ ‘A(dd)-perture’

พีรพัฒน์ วิมลรังครัตน์ หรือ ADDCANDID ช่างภาพมากฝีมือระดับ Leica Thailand Ambassador ได้มาออกหนังสือที่เล่าเรื่องราวหลังเลนส์กล้องของเขา เขาถ่ายทอดมันออกมาด้วยสำนวนภาษาขี้เล่นและอารมณ์ดี โดยมีภาพถ่ายที่สวยและจับจังหวะอย่างเฉียบคมของเขาเป็นส่วนประกอบ สองสิ่งนี้กลายเป็นแรงบันดาลใจเบื้องหลังการออกแบบปกของ ’29thwinter’ ที่ตีความทั้งสองอย่างออกมาในรูปแบบของเธอ “ปกเล่มนี้เริ่มจากการเลือกรูปกันในกอง โดยมีโจทย์ว่าต้องเป็นรูปที่แสดงถึงสไตล์การถ่ายรูปของผู้เขียนอย่างชัดเจน เราจึงพยายามเลือกรูปที่ให้ความรู้สึกของการถูก snap และมีความ candid ในแบบของเขา การเลือกรูปที่ใช่นั้นค่อนข้างยาก เพราะรูปถ่ายของเขาสวยหมดทุกรูปเลย แต่เซตภาพที่เราชอบมากที่สุดคือเซต ‘ปารีส’ โดยเฉพาะรูป ‘the kiss’ ที่สำหรับเรามันยังเป็นรูปที่ใช่เสมอ แม้ว่ามันจะเคยใช้เป็นปก photobook ของเขาไปแล้วก็ตาม  การเลือกใช้ฟอนต์ต่างกันในชื่อหนังสือบนปก เพราะเราอยากให้มีลูกเล่นที่สื่อถึงคาแรคเตอร์ความเป็นกันเองของผู้เขียน ซึ่งสอดคล้องกับเนื้อหาสนุกๆ ด้านในเล่ม การวางชื่อพาดตรงกลางเป็นความตั้งใจให้ตัววงเล็บคาดตรงปากของทั้งสองคนพอดี เพื่อให้ภาพดูน่าค้นหามากยิ่งขึ้นจากการที่เราได้ปิดบังบางส่วนไป เมื่อเราได้รูปกับฟอนต์ที่พอดีแล้ว องค์ประกอบอื่นๆ และสีที่เลือกจึงใช้เท่าที่จำเป็น ด้วยแนวคิดที่อยากให้มันออกมาแบบ minimal แต่ดูโดดเด่นไม่จืดชืด” สั่งซื้อหนังสือ ‘A(dd)-perture’ โดย ADDCANDID ได้แล้วที่ https://godaypoets.com/product/add-perture/

view more