fbpx

Home / article / Knowledge / East side story เมื่อยุโรปมืด – ตะวันออกหม่น

East side story เมื่อยุโรปมืด – ตะวันออกหม่น

a book Publishing

Jul 2, 2020

อาจกล่าวได้ว่าหนังสือ ‘ยุโรปมืด’ (https://godaypoets.com/product/the-sun-still-shines/) ของ ‘พีรพัฒน์ ตัณฑวณิช’ คือหนังสือที่นำเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์โดยเล่าเรื่องผ่านสถานที่ มากกว่าการเป็นหนังสือท่องเที่ยวที่แทรกเกร็ดประวัติศาสตร์ ตลอดทั้งเล่มพีรพัฒน์พาคุณเหยียบย่ำไปบนอนุสรณ์สถานแห่งความโหดร้าย เพื่อเสาะแสวงหาร่องรอยของเหตุการณ์ต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นในยุโรปตะวันออกช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนจะย้อนกลับไปพินิจเรื่องราวเบื้องหลังคราบเหล่านั้นเพื่อเรียนรู้และจดจำถึงช่วงเวลาที่ความมืดมนปกคลุมไปทั่วดินแดน มืดมนทั้งในแง่ของสภาพชีวิต และมืดมนกินลึกถึงข้างในจิตใจ

ชื่อเรียกกันว่า ‘สงครามโลก’ แน่นอนว่าผลกระทบไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงในยุโรปตะวันออกเท่านั้น หากแต่แผ่กระจายไปทั่วไม่ต่างจากการอุบัติตัวของโรคระบาด และเดินทางสร้างรอยแผลให้กับผู้คนอย่างไม่จำกัดบริเวณ ที่แห่งหนึ่งซึ่งประสบกับภาวะมืดมิดจากภัยสงครามคือ ‘เอเชีย’ ซึ่งหากมองย้อนไปแล้วก็พบว่าดินแดนแห่งนี้ต้องเผชิญความโหดร้ายไม่ด้อยไปกว่าพื้นที่อื่น และนี่คือ 4 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับดินแดนฝั่งตะวันออก หรือเกี่ยวข้องกับความเป็น ‘เอเชีย’ ในช่วงเวลามหาสงคราม บางเหตุการณ์อาจถูกหลงลืมไป บางเหตุการณ์อาจจงใจให้ถูกลืม แต่ทั้งหมดต่างสะท้อนให้เห็นภาพเดียวกันว่า สงครามไม่เพียงเผยความกระหายในอำนาจอันไม่รู้จบของมนุษย์ แต่ยังเปลื้องให้เห็นความโหดเหี้ยมที่ซ่อนอยู่เบื้องลึกในจิตใจของคน ดังจะเห็นได้จากทั้ง 4 เหตุการณ์นี้

เหตุการณ์ Yellow river flooding – เมื่อจีนสละชีวิตประชาชนของตนเองเพื่อตนเอง

มักมีคำกล่าวที่ว่า ‘ไม่มีสงครามใด ชนะได้หากไร้ผู้เสียสละ’ หากแต่คำถามสำคัญคือ เราจะคัดเลือกผู้เหมาะสมสำหรับการสละตนเป็นชาติพลีอย่างไร?

เหตุการณ์ Yellow River flooding เกิดขึ้นให้หลังไม่ถึงหนึ่งปีของเหตุการณ์ ‘โศกนาฏกรรมที่นานกิง (Nanjing Massacre)’ ในช่วงระหว่างสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่ 2 ที่อุบัติขึ้นก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นเวลาเล็กน้อยก่อนจะผนวกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของมหาสงครามในภายหลัง ณ เวลานั้น การรุกรานแผ่นดินจีนของกองทัพญี่ปุ่นดำเนินไปอย่างคืบหน้า รัฐบาลจีนภายใต้การนำของ ‘เจียง ไค เชค’ พยายามดึงเอาทุกกลยุทธการสงครามมาใช้เพื่อยับยั้งการบุกครั้งนี้ จนกระทั่งกองทัพญี่ปุ่นเคลื่อนใกล้เข้ามาถึงจุดยุทธศาสตร์สำคัญของจีนในเมืองอู่ฮั่น รัฐบาลจีนจึงตัดสินใจซื้อเวลาของพวกเขา โดยแลกกับชีวิตของประชาชน

ภาพวาดสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่หนึ่ง สะท้อนความขัดแย้งอันยาวนานของทั้งสองชาติ

เพื่อโยกย้ายยุทโธปกรณ์และทรัพยากรของกองทัพให้รอดพ้นจากกองกำลังญี่ปุ่น รัฐบาลจีนต้องการเวลาเพิ่มอีกสักเล็กน้อย ภายหลังจากพิจารณาทุกหนทางอย่างถี่ถ้วนแล้ว พวกเขาเลือกที่จะทำลายเขื่อนกั้นแม่น้ำฮวงโห และปล่อยน้ำให้ท่วมพื้นที่จังหวัดเหอหนานเพื่อสกัดกั้นการเคลื่อนกำลังของกองทัพญี่ปุ่น ผลลัพธ์ออกมาเป็นไปตามที่รัฐบาลจีนต้องการ หากแต่ไม่ใช่เพียงกองทัพญี่ปุ่นเท่านั้นที่เดินทัพต่อไปไม่ได้ มันยังรวมไปถึงประชาชนชาวจีนส่วนหนึ่งที่ไม่สามารถเดินหน้าชีวิตของตัวเองต่อไป จากเหตุการณ์ดังกล่าว ประมาณการว่ามีชาวจีนเสียชีวิตจากการจมน้ำมากกว่า 4 แสนคน และมีจำนวนอีกกว่า 3 ล้านคนที่ต้องประสบกับภาวะไร้ที่อยู่อาศัย รวมทั้งจำเป็นต้องอพยพฉุกเฉิน และเนื่องจากอยู่ในภาวะสงคราม ทำให้การช่วยเหลือจากรัฐแทบเป็นไปไม่ได้ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตสืบเนื่องจากเหตุการณ์นั้นอีกมากมาย มากไปกว่านั้น พื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมขังยังไม่สามารถเข้าไปใช้งานในเชิงเกษตรกรรมได้อีกระยะเวลาหนึ่ง ก่อให้เกิดภัยความอดอยากขึ้นมาในภายหลัง และคาดการว่ามีผู้สูญเสียเพิ่มจากภัยในครั้งนี้อีกกว่า 3 ล้านคน

เหตุการณ์ Bengal Famine – ทุพภิกขภัยในเบงกอลภายใต้ความเฉยเมยของอังกฤษ

ในภาพยนตร์ ‘Darkest Hour’ หรือในซีรีส์ ‘The crown’ เราอาจมอง ‘วินสตัน เชอร์ชิล’ ในฐานะชายผู้ทรนง ผู้เป็นวีรบุรุษแห่งยามสงครามสำหรับชาวสหราชอาณาจักรหรืออาจรวมถึงชาวโลก ในฐานะผู้หยุดยั้งความโหดร้ายของเผด็จการนาซีอย่างกล้าหาญ แต่อีกมุมหนึ่ง สิ่งที่เขาได้กระทำไปในช่วงเวลานั้น กลับสะท้อนให้เห็นถึงจุดลึกสุดในจิตใจของเขาที่อาจไม่ได้ต่างไปจาก ‘อดอล์ฟ ฮิตเลอร์’ ศัตรูที่เขาเกลียดชังเท่าไหร่

ในช่วงระหว่างปี 1873-1943 ประเทศอินเดียเผชิญกับภาวะอดอยากและขาดแคลนอาหารบ่อยครั้ง และแทบทุกครั้งมักมีสาเหตุมาจากดินที่แข็งเกินไป อุณหภูมิที่ร้อนเกินไป หรือฝนที่ตกน้อยเกินไป มีบ้างบางครั้งที่เกิดจากปัจจัยอื่นๆ ที่เหนือการควบคุม เช่น การบุกเข้ายึกครองพม่าของจักรวรรดิญี่ปุ่นที่ทำให้นำเข้าข้าวเข้ามาไม่ได้ แต่ทุพภิกขภัยในปี 1943 เกิดขึ้นจากเหตุผลที่ต่างออกไป เพราะมันอาจมาจากความจงใจของ ‘วินสตัน เชอร์ชิล’

สภาพบ้านเมืองของรัฐเบงกอลในช่วงทุพภิกขภัย

อันที่จริงข้อกล่าวหารัฐบุรุษแห่งอังกฤษว่าตั้งใจปล่อยให้มีการอดอยากนั้นอาจรุนแรงเกินไป มันอาจเป็นการกระทำที่ไม่ได้ร้ายแรงมากนัก หากคุณมองว่าการเพิกเฉยและไม่สนใจว่าจะมีการอดอยากเกิดขึ้นไม่ได้เป็นเจตนาร้าย สิ่งที่เชอร์ชิลทำในตอนนั้นคือการดูดเอาทรัพยากรอาหารของอินเดีย โดยเฉพาะข้าว ออกไปใช้เป็นเสบียงในการสงครามในพื้นที่อื่นๆ แทบทั้งหมด ถึงแม้จะมีคำเตือนซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า การกระทำดังกล่าวจะก่อให้เกิดภาวะอดอยากขึ้นในรัฐเบงกอล แม้กระทั่งเมื่อรัฐบาลอังกฤษเองประกาศภาวะขาดแคลนอาหารในอินเดีย เชอร์ชิลก็ยังคงให้มีการส่งออกข้าวมาจากอินเดียอีกกว่า 7 แสนตัน หลายคนวิเคราะห์ว่าการกระทำของเชอร์ชิลในครั้งนี้ ทำไปเพราะแรงขับของความดูถูกและเกลียดชัง เป็นที่รู้กันว่าเชอร์ชิลมองชาวอินเดียต่ำต้อยกว่าชนชาวผิวขาว โดยมีผู้อ้างว่า ครั้งหนึ่งเชอร์ชิลเคยสบถออกมาว่า ‘พวกคนอินเดียออกลูกเยอะราวกับกระต่าย’ ทั้งยังเคยแช่งให้มหาตมะ คานธีตายๆ ไปเสียอีกด้วย จากความเพิกเฉยและไม่สนใจชีวิตมนุษย์ที่เพียงแค่เชื้อชาติต่างจากตนในครั้งนี้ของเขา ส่งผลให้ชาวเบงกอลต้องเสียชีวิตจากการขาดอาหารกว่า 3 ล้านราย ว่ากันว่าเป็นภัยความขาดแคลนที่ร้ายแรงมากที่สุดครั้งหนึ่งของโลก

เหตุการณ์ The firebombing of Tokyo – ปฏิบัติการทิ้งระเบิดที่รุนแรงมากที่สุดครั้งหนึ่ง แต่กลับถูกหลงลืม

ในหนังสือ ‘ยุโรปมืด’ มีการพูดถึงการทิ้งระเบิดถล่มเมืองเดรสเดนในช่วงท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่งผลให้ทั้งเมืองต้องกลายเป็นเถ้าถ่าน สถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่าหลายแห่งต้องถูกทำลาย และประชาชนผู้บริสุทธิ์มากมายต้องสูญเสียชีวิต อีกฟากหนึ่งของโลก ยังมีอีกเมืองที่ต้องเผชิญกับชะตากรรมที่ไม่ต่างกัน เราอาจคุ้นเคยกับเรื่องราวการทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิม่าและนางาซากิ แต่อาจไม่ทราบว่ายังมีอีกเมืองสำคัญของญี่ปุ่นที่ต้องเผชิญกับความสูญเสียที่ไม่ต่างกัน

หากเคยได้ชมภาพยนตร์ ‘Grave of the Fireflies’ ของ ‘Studio Ghibli’ เชื่อว่าหลายคนคงเผลอเสียน้ำตาให้กับเรื่องราวสุดรันทดใจของคู่พี่น้องที่ต้องเผชิญความโหดร้ายของสงคราม แม้ตัวเรื่องจะดำเนินภายใต้ฉากหลังของเมืองโกเบ แต่ก็อยู่ร่วมเวลาเดียวกันกับเหตุการณ์ที่เมืองโตเกียว ก่อนหน้าการปูพรมทิ้งระเบิดของกองทัพสหรัฐฯ ในครั้งนี้ เมืองต่างๆ ในญี่ปุ่นเคยเผชิญการโจมตีทางอากาศจากอีกฝ่ายอยู่บ้าง เช่นเมืองโตเกียวเองที่เคยผ่าน ‘ปฏิบัติการดูลิตเติ้ล’ อันเป็นการตอบโต้เร็วของสหรัฐฯ จากการโจมตีฐานทัพเรือที่ Pearl Harbour ของญี่ปุ่น แต่รูปแบบปฏิบัติการส่วนมากใช้ยุทธศาสตร์การโจมตีแบบแม่นยำและตรงจุด กล่าวคือ เน้นโจมตีเฉพาะเป้าหมายที่ต้องการเท่านั้น ทำให้เกิดความเสียหายที่ไม่รุนแรงมากนัก

จนกระทั่งวันที่ 9 มีนาคม 1945 กองทัพสหรัฐฯ ได้เปลี่ยนมาใช้ยุทธศาสตร์การโจมตีแบบปูพรมแทนอย่างจงใจ ที่กล่าวว่า ‘อย่างจงใจ’ เป็นเพราะนี่คือแผนที่ได้รับการบันทึกไว้ชัดเจนว่า ทางสหรัฐฯ ต้องการจะสร้างความเสียหายให้รุนแรงที่สุด โดยมีบันทึกว่าพวกเขาเลือกพิจารณาใช้วิธีนี้จากเหตุผลที่เมืองโตเกียวเต็มไปด้วยสิ่งปลูกสร้างที่ทำมาจากไม้ ทำให้เมื่ออาคารเพียงแค่หนึ่งหลังโดนไฟไหม้ ก็สามารถนำไปสู่ดินแดนแห่งกองเพลิงได้ไม่ยาก น่าเศร้าที่ความประสงค์ของสหรัฐฯ กลายเป็นจริง อันนำไปสู่ความสูญเสียครั้งใหญ่ของเมืองโตเกียว อาคารกว่า 3 แสนหลังได้รับความเสียหาย ประชาชนกว่า 1 แสนคนสูญเสียชีวิต อุณหภูมิบนพื้นของเมืองโตเกียวในเวลานั้นสูงเกือบ 1 พันองศาเซลเซียส ร่ำลือกันว่านักบินทิ้งระเบิดกลุ่มท้ายๆ ของสหรัฐฯ บินกลับฐานไปพร้อมกลิ่นไหม้ของเพื่อนมนุษย์ที่ติดคงอยู่ในจมูกพวกเขา

เหตุการณ์ The internment of Japanese – Americans – ผู้อพยพรุ่นที่ 2/พลเมืองชั้นที่ 2

เรื่องนี้อาจไม่ได้เกิดขึ้นในพื้นที่ทวีปเอเชีย แต่เป็นเรื่องราวของผู้ที่ได้รับผลกระทบเพียงเพราะพวกเขามีเชื้อสายเอเชียอยู่ในตัว แม้ในเวลานั้น คนเหล่านี้จะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเพื่อนร่วมสายเลือดที่อยู่อีกฟากโลกเลยก็ตาม หากชาวยิวต้องตายเพียงเพราะเป็นยิว พวกเขาเหล่านี้ก็เผชิญกับการถูกประณาม หวาดระแวง และส่งเข้าค่ายกักกัน เพียงแค่เพราะมีเชื้อสายญี่ปุ่น

เหตุการณ์โจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์เปรียบเสมือนเครื่องบูชาแด่เทพ Ares เพื่อจุดไฟสงครามระหว่างสหรัฐอเมริกากับญี่ปุ่นให้ประทุขึ้นมา ในช่วงเวลาไม่ห่างกันนัก ประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี. รูสเวลท์ได้ออกคำสั่งลับที่ 9066 ให้มีการนำตัวชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่น ซึ่งส่วนมากเป็นลูกหลานผู้อพยพมาตั้งถิ่นฐานในสหรัฐอเมริการุ่นที่ 2 หรือเรียกกันว่า ‘Nisei’ ที่อาศัยอยู่ในแถบ West Coast จำนวนกว่า 120,000 คน ไปเข้าค่ายกักกันของรัฐบาล เนื่องด้วยคำสั่งนี้เกิดขึ้นอย่างกระชั้นชิด ทำให้ชาวญี่ปุ่น-อเมริกันเหล่านี้จำเป็นต้องขายทรัพย์สินของพวกเขาออกไปในราคาต่ำกว่าที่ควรจะเป็น และรีบเดินทางเข้าค่ายกักกันของรัฐบาล ค่ายกักกันแต่ละแห่งตั้งอยู่ในดินแดนห่างไกล ล้อมไปด้วยรั้วลวดหนาม หอคอยยามสูง และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่ยืนอยู่หลังปืนกลกระบอกใหญ่ ชาวญี่ปุ่น-อเมริกันทุกเพศทุกวัย แม้แต่เด็กเล็กต้องใช้ชีวิตราวกับนักโทษอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ยาวนานนับปี ก่อนจะได้รับอิสรภาพในภายหลัง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พวกเขาต้องเผชิญต่อจากนั้นคือความขลุกขลักของการไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ และฝันร้ายจากประสบการณ์ในค่ายกักกัน หรืออาจเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ‘คุก’

นี่คือส่วนหนึ่งของเรื่องราว อันเป็นเศษเสี้ยวของความโหดร้ายที่ครั้งหนึ่งมนุษย์เคยกระทำต่อกัน ในวันที่โลกเดินหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง เราก็ได้เพียงหวังว่าสักวัน ทุกชีวิตจะเท่ากันอย่างสมบูรณ์

หากคุณชอบเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ และรักที่จะวิเคราะห์ถึงอนาคต เราขอแนะนำเซต ‘Back to the future’ ที่จะพาคุณย้อนไปดูประวัติศาสตร์ยุโรป และข้ามไปพบอนาคตของเอเชีย สั่งซื้อในราคาพิเศษที่ https://godaypoets.com/product/friends-03/

East side story เมื่อยุโรปมืด – ตะวันออกหม่น

อาจกล่าวได้ว่าหนังสือ ‘ยุโรปมืด’ ของ ‘พีรพัฒน์ ตัณฑวณิช’ คือหนังสือที่นำเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์โดยเล่าเรื่องผ่านสถานที่ มากกว่าการเป็นหนังสือท่องเที่ยวที่แทรกเกร็ดประวัติศาสตร์

view more

คุยกับ พีรพัฒน์ ตัณฑวณิช “ยุโรปมืด” แล้วเอเชียสว่างไหม

หลังจากเจ็ดปีในต่างแดน โดยเรียนปริญญาโทที่ญี่ปุ่นสองปี และต่อปริญญาเอกที่แคนาดาอีกห้าปี ตั๊บ-พีรพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์และนักเขียนเจ้าของผลงาน “ยุโรปมืด” กลับมาเมืองไทยพร้อมปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์การพัฒนา และปัจจุบันทำงานให้กับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หลังจากเราตีพิมพ์ต้นฉบับของเขาจนเป็น Best Seller มานาน วันนี้อะบุ๊กเพิ่งได้พบหน้าค่าตากัน เราจึงชวนเขามาคุยกันสารพัดเรื่อง ทั้งการเมือง เศรษฐศาสตร์ และสงครามโลก ที่หลายคนอยากรู้ว่าจะเกิดขึ้นอีกไหมในชั่วชีวิตนี้ (แทบ) ทุกราชวงศ์เป็นลูกหนี้ชาวยิว ในหนังสือผมพูดถึงชาวยิวซึ่งเป็นชนชาติที่ถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองไปมากมาย และในขณะเดียวกัน รู้ไหมครับว่าตระกูลที่มั่งคั่งที่สุดก็ยังคงเป็น House of Rothschild ซึ่งคือยิวเหมือนกัน รวยมานาน และยังคงรวยอยู่ เป็นเจ้าของสถาบันการเงิน มีอิทธิพลทางการเงินสูงมากต่อโลก ราชวงศ์ไหนเปิดสงครามก่อน เขาก็จะไฟแนนซ์อีกฝั่งหนึ่ง พูดง่ายๆ คือทุกราชวงศ์เนี่ยเป็นลูกหนี้เขาหมดเลย ไม่ทำสงครามเพราะกลัวจน หลายคนเชื่อว่าที่เราไม่รบกันเพราะทุกประเทศคำนึงถึงเศรษฐกิจ ผลประโยชน์อาจเป็นแรงผลักดันที่ดีที่ทำให้เราเลี่ยงสงคราม อย่างอะลีบาบาก็ไม่อยากให้อเมริกาเกิดสงคราม เพราะอะลีบาบาก็เทรดอยู่ในตลาดนิวยอร์ก จริงอยู่ เมื่อก่อนนายทุนค้าอาวุธย่อมสนับสนุนให้เกิดสงคราม แต่ตอนนี้ถ้าเป็นสงครามสเกลใหญ่ ผมไม่มั่นใจว่ามันจะดีกับเขาหรือเปล่านะ เขาอาจจะอยากให้มีสเกลเล็กแล้วทุ่มไปกับรีเสิร์ช เพราะทุกวันนี้ เวลารบกันมันไม่ใช่ทหารราบรบกันแล้วครับ มันเป็นการรบด้วยรีเสิร์ชเสียเยอะ จริงๆ ผมไม่ค่อยรู้เรื่องพวกนี้นะครับ แต่ความเชื่อส่วนตัว ผมคิดว่าชั่วชีวิตผมไม่น่าจะได้เห็นสงครามสเกลใหญ่ขนาดนั้นอีกแล้ว แต่สงครามเล็ก ๆ น้อย […]

view more

ภาพถ่ายและตัวอักษรที่สะท้อนตัวตนของ ADDCANDID ในปกหนังสือ ‘A(dd)-perture’

พีรพัฒน์ วิมลรังครัตน์ หรือ ADDCANDID ช่างภาพมากฝีมือระดับ Leica Thailand Ambassador ได้มาออกหนังสือที่เล่าเรื่องราวหลังเลนส์กล้องของเขา เขาถ่ายทอดมันออกมาด้วยสำนวนภาษาขี้เล่นและอารมณ์ดี โดยมีภาพถ่ายที่สวยและจับจังหวะอย่างเฉียบคมของเขาเป็นส่วนประกอบ สองสิ่งนี้กลายเป็นแรงบันดาลใจเบื้องหลังการออกแบบปกของ ’29thwinter’ ที่ตีความทั้งสองอย่างออกมาในรูปแบบของเธอ “ปกเล่มนี้เริ่มจากการเลือกรูปกันในกอง โดยมีโจทย์ว่าต้องเป็นรูปที่แสดงถึงสไตล์การถ่ายรูปของผู้เขียนอย่างชัดเจน เราจึงพยายามเลือกรูปที่ให้ความรู้สึกของการถูก snap และมีความ candid ในแบบของเขา การเลือกรูปที่ใช่นั้นค่อนข้างยาก เพราะรูปถ่ายของเขาสวยหมดทุกรูปเลย แต่เซตภาพที่เราชอบมากที่สุดคือเซต ‘ปารีส’ โดยเฉพาะรูป ‘the kiss’ ที่สำหรับเรามันยังเป็นรูปที่ใช่เสมอ แม้ว่ามันจะเคยใช้เป็นปก photobook ของเขาไปแล้วก็ตาม  การเลือกใช้ฟอนต์ต่างกันในชื่อหนังสือบนปก เพราะเราอยากให้มีลูกเล่นที่สื่อถึงคาแรคเตอร์ความเป็นกันเองของผู้เขียน ซึ่งสอดคล้องกับเนื้อหาสนุกๆ ด้านในเล่ม การวางชื่อพาดตรงกลางเป็นความตั้งใจให้ตัววงเล็บคาดตรงปากของทั้งสองคนพอดี เพื่อให้ภาพดูน่าค้นหามากยิ่งขึ้นจากการที่เราได้ปิดบังบางส่วนไป เมื่อเราได้รูปกับฟอนต์ที่พอดีแล้ว องค์ประกอบอื่นๆ และสีที่เลือกจึงใช้เท่าที่จำเป็น ด้วยแนวคิดที่อยากให้มันออกมาแบบ minimal แต่ดูโดดเด่นไม่จืดชืด” สั่งซื้อหนังสือ ‘A(dd)-perture’ โดย ADDCANDID ได้แล้วที่ https://godaypoets.com/product/add-perture/

view more