Home / article / เล่มนี้ที่รัก: เปิดใจ 4 Super abooker แฟนตัวจริงของอะบุ๊ก กับหนังสือที่ยกให้เป็นที่สุดในดวงใจ
เล่มนี้ที่รัก: เปิดใจ 4 Super abooker แฟนตัวจริงของอะบุ๊ก กับหนังสือที่ยกให้เป็นที่สุดในดวงใจ
a book Publishing
Jul 29, 2019

เขียน: ซัลมา อินทรประชา และ วีรนาถ โชติพันธุ์
ภาพ: นพดล เลิศเอกสิริ
เกือบ 20 ปีที่ผ่านมา อะบุ๊กตีพิมพ์หนังสือมาแล้วกว่า 500 ปก ด้วยความเชื่อว่าหนังสือที่เรารักจะส่งต่อแรงบันดาลใจ ความสนุก ความรู้ ให้ผู้อ่านได้ อะบุ๊กผลิตหนังสือมาแล้วเกือบทุกแบบ เพราะเรามั่นใจว่าคงไม่มีใครไม่รักการอ่าน หากเขาได้เจอหนังสือสักเล่มที่สื่อสารกับใจเขาได้จริง
ในงาน a book fair งานหนังสือประจำปีของอะบุ๊กครั้งล่าสุดนี้ เราได้คิดค้นเกมขึ้นมาเพื่อค้นหาสุดยอดแฟนหนังสือของเรา ชื่อว่าเกม Super abooker เป็นเกมที่ให้นักอ่านค้นหา 20 ชิ้นส่วนจากปกหนังสืออะบุ๊กในยุคต่างๆ เกมนี้ทีมอะบุ๊กเองยังยอมรับว่าไม่ง่ายเลย แต่ไม่น่าเชื่อว่าในงานครั้งนั้นจะมีแฟนอะบุ๊กตัวจริงที่บางคนถึงขั้นได้คะแนนเต็มแบบรับเกียรตินิยมเหรียญทองไปเลย และนี่คือ 4 ผู้ชนะซูเปอร์อะบุ๊กเกอร์ที่ได้คะแนนสูงสุดของแต่ละวัน เราชวนเขามาคุยถึงหนังสืออะบุ๊กในดวงใจ และต่อไปนี้คือหนังสือ 4 เล่มนั้น กับเหตุผลที่มันได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในดวงใจ

แทน – ปองณัฐ เครือศรี
บัณฑิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

เล่มที่เลือก: Rocktopia
ผู้เขียน: วิรัตน์ โตอารีย์มิตร
“เล่มนี้ทำให้เราโตขึ้น ทำให้ปล่อยวางในสิ่งที่ควรปล่อย
และไม่รีรอที่จะทำในสิ่งที่ควรทำ”
หนังสือเล่มนี้เล่าว่าโลกหลังความตายไม่มีสวรรค์หรือนรก และเหล่าศิลปินร็อกที่เสียชีวิตไปแล้วทั้งหลายต่างไปรวมตัวกันอยู่ที่ Rocktopia ไม่ว่าจะเป็น เอลวิส เพรสลี่ย์ จอห์น เลนนอน คาเรน คาร์เพนเตอร์ เคิร์ท โคเบน หรือนักแสดงอย่างเจมส์ ดีน เนื้อหาในเล่มนอกจากพูดถึงเรื่องเพลงแต่เอกลักษณ์ของศิลปินร็อคตอนเขายังมีชีวิตบนโลกออกมาเล่าเป็นเรื่องราว
ด้วยความเป็นคนที่ชอบเล่นดนตรีและฟังเพลงเก่าอยู่แล้ว พออ่าน Rocktopia เลยทำให้อินมาก เป็นเหมือนหนังสือที่เปิดโลกที่สนใจอยู่ให้กว้างขึ้นกว่าเดิม จากที่เคยอ่านหนังสือเพื่อความสนุกเฉยๆ แต่ Rocktopia มันตอบโจทย์ที่มันอ่านแล้วสนุกด้วยและตรงกับความสนใจส่วนตัวของเราด้วย เล่มนี้ทำให้ได้รู้จักศิลปินระดับตำนานรวมถึงเพลงของพวกเขามากขึ้น ได้ลองฟังเพลงอื่นๆ ที่อาจจะไม่ได้ถูกพูดถึงมากนักแต่มีเรื่องราวในตัวของมัน ได้เรียนรู้และพบวิธีคิดใหม่ๆ ที่นำมาใช้กับชีวิตตัวเองได้ด้วย และเรารู้สึกว่าการอ่านหนังสือเล่มนี้ทำให้เราโตขึ้น ทำให้ปล่อยวางในสิ่งที่ควรปล่อย และไม่รีรอที่จะทำในสิ่งที่ควรทำ เพราะบทสรุปหนึ่งที่เราได้จากหนังสือเล่มนี้คือ ‘ทุกอย่างไม่ได้ยั่งยืน’

ปอฝ้าย – สิรภัทร กิติกุล
นักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 5 โรงเรียนสตรีวิทยา

เล่มที่เลือก: เด็กชายเลขที่ 34
ผู้เขียน: ENZO
ผู้แปล: อนุรักษ์ กิจไพบูลทวี
“หนังสือเล่มนี้ทำให้หนูต้องตั้งคำถามต่อว่า เมื่อเราอดทน เติบโตพอ จนเป็นที่น่าไว้ใจแล้ว เราจะยังย้อนกลับไปหาวัยเด็กที่เคยละทิ้งได้หรือเปล่า”
ตอนแรกหนูหยิบหนังสือเล่มนี้มาอ่านเพราะเป็นนิยายภาพที่น่าจะอ่านง่าย ที่สำคัญคือคาดหวังความเบาๆ เพราะน่าจะเป็นเรื่องที่ทำอบอุ่นหัวใจ แต่พออ่านจริงๆ กลับร้องไห้เพราะรู้สึกเหมือนเห็นชีวิตตัวเองผ่านการดำเนินเรื่องและการเติบโตของตัวละครหลักเด็กชายเลขที่ 34 ที่รายล้อมไปด้วยผู้ใหญ่ที่มีความตั้งใจจะมอบความหวังดีต่ออนาคตของเด็กชาย แต่ความหวังดีนั้นก็เหมือนกับเป็นการบังคับกดดันให้เด็กชายละทิ้งความเป็นเด็กในตัวเองไป รู้สึกว่าเด็กหลายๆ คนก็น่าจะเจอกับสิ่งนั้นเหมือนกัน หนูเองก็รู้สึกอึดอัดจากการที่ต้องเก็บสิ่งที่ฝันไว้ในใจ ซึ่งอาจจะเป็นคนละอย่างกับสิ่งที่เราทำได้ดีและผู้ใหญ่ต้องการให้เราทำ และในที่สุดเราอาจต้องแลกตัวตนที่แท้จริงของเรา ความเป็นเด็ก ความเชื่อ ความฝัน ให้กับตัวตนใหม่ที่ใครๆ อยากให้เป็น หนังสือยังทำให้หนูต้องตั้งคำถามต่อว่า เมื่อเราอดทน เติบโตพอ จนเป็นที่น่าไว้ใจแล้ว เราจะยังย้อนกลับไปหาวัยเด็กที่เคยละทิ้งได้หรือเปล่า

คิตตี้ – ภักติ จตุพร
นิสิตชั้นปีที่ 1 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เล่มที่เลือก: Genderism
ผู้เขียน: โตมร ศุขปรีชา
“เล่มนี้เสนอให้เห็นว่าความเชื่อบางอย่างที่เราเชื่อตามกันมาโดยไม่เคยตั้งคำถาม เราถูกทำให้เชื่อเพราะคนบางกลุ่มได้ประโยชน์หรือเปล่า”
เมื่อก่อนเราสนใจข่าวที่พูดถึงเรื่องทางเพศเยอะเหมือนกัน อย่างข่าวที่ออกมาบอกว่าห้ามผู้หญิงใส่เสื้อแขนกุดเล่นน้ำสงกรานต์ เราก็อยากรู้ที่มาและก็ตั้งข้อสงสัยกับมัน แต่ยุคนั้นยังไม่ค่อยเจอบทความแนววิเคราะห์ที่พูดถึงเรื่องนี้มากเท่าสมัยนี้ จนมาเจอ Genderism ที่วิเคราะห์เรื่องที่เราไม่เคยคิดว่ามันเกี่ยวพันกัน อย่างเรื่องเพศกับการเมือง บางเรื่องเป็นเรื่องในอดีตที่เกิดขึ้นที่เราไม่เคยรู้ จนเราอึ้งว่ามันเคยมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นจริงๆ เหรอ จนต้องกลับไปค้นข่าวเก่าๆ อย่างเรื่องห้ามผู้หญิงขึ้นพระธาตุ เราอยากรู้ว่าความเชื่อแบบนี้มีมานานหรือยัง กฎข้อห้ามจริงๆ คืออะไร เพราะอะไร
เล่มนี้เสนอให้เห็นว่าความเชื่อบางอย่างที่เราเชื่อตามกันมาโดยไม่เคยตั้งคำถาม เราถูกทำให้เชื่อเพราะคนบางกลุ่มได้ประโยชน์หรือเปล่า เป็นเล่มที่กล้าพูดเรื่องเพศออกมาแบบตรงๆ มีวิธีคิดที่ทันสมัยมากเมื่อเทียบกับช่วงเวลาที่เขียน พอได้อ่านมันเปิดมุมมองเรื่องเพศไปอีกเยอะมาก อย่างถ้าเราเป็นเกย์ ทำไมเราต้องเป็นเกย์ที่เก่งเพื่อให้คนยอมรับ เราก็แค่เป็นเกย์ไง และทำไมคนเราต้องถูกจัดกลุ่มว่าเราเป็นอะไร เป็นตุ๊ด เป็นดี้ เราว่าสังคมไทยเหมือนจะเปิดกับเรื่องนี้แต่จริงๆ เราเห็นได้ว่าคนบางส่วนก็ยังมองว่าคนรักเพศเดียวกันเป็นตัวตลก หรือมีกรอบว่าคนเป็นเกย์ต้องเป็นแบบนี้เท่านั้น หรือแม้แต่ผู้หญิงก็มีกรอบว่าต้องมีนิสัยแบบนี้ ผู้ชายต้องเป็นแบบนั้น แต่เราอยากเห็นสังคมที่เห็นเรื่องเพศเท่ากันจริงๆ คิดว่ามันต้องแก้ไขตั้งแต่เรื่องการปลูกฝังตั้งแต่เด็กๆ เลย ทั้งในแบบเรียนหรือระบบการสอน

เฟิร์น – ธันยพร บูรณตรีเวทย์
นิสิตชั้นปีที่ 1 คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เล่มที่เลือก: Big Diff เหมือนจะเหมือน
ผู้เขียน: ภูมิชาย บุญสินสุข
“เขาทำให้เราเห็นถึงจุดที่ไม่คาดคิดในการใช้คำต่างๆ
รู้สึกว่าเลยว่าเรายังต้องพัฒนาตัวเองอีกเยอะ”
เจอเล่มนี้ในงานหนังสือฯ รู้สึกดึงดูดเพราะเป็นเล่มที่ดูเก่าสุดในหมู่หนังสือกองนั้น และหน้าปกก็เป็นภาพวาดแบบที่ชอบ พอเปิดๆ เนื้อหาดูก็น่าสนใจมาก ตอนนั้นถามคนที่ขายว่ามีเล่มเดียวเหรอ พอรู้ว่าเหลือเล่มเดียวก็เลยรู้สึกว่าต้องซื้อ (หัวเราะ) เล่มนี้เป็นหนังสือสอนภาษาอังกฤษอีกเล่มของพี่บิ๊ก เรารู้สึกว่าพี่เขาเล่าเก่ง อธิบายความแตกต่างของคำศัพท์แบบเข้าใจง่าย ส่วนตัวชอบบท ‘เรื่องขี้ๆ’ ที่พูดถึงคำว่า crap กับ shit ด้วยความที่เราเป็นคนอ่านการ์ตูนเยอะก็จะเจอสองคำนี้บ่อย พระเอกที่ปากเสียจะ อะไรก็ shit อะไรก็ crap แต่เราไม่เคยรู้ว่าต่างกันอย่างไร แต่เล่มนี้เขาอธิบายจนเราเข้าใจได้ทันที และเวลาสรุปจบบทก็สั้นๆ แบบจำเอาไปใช้ได้เลย
อ่านเล่มนี้จบแล้วรู้สึกว่าต่อไปเราต้องระวังการเลือกใช้คำมากขึ้น บางคำความหมายเหมือนกันแต่ความสุภาพไม่เท่ากัน ทั้งๆ ที่คำศัพท์เหล่านี้เป็นคำที่เราคุ้นเคยอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน แต่บางทีเราไม่รู้เลยว่ามันต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญนะ จนเราอยากไปค้นต่อว่ามีคำที่มีความหมายคล้ายกันอีกไหม น่าเอาไว้ใช้ประโยชน์ได้ ทำให้เราเห็นถึงจุดที่ไม่คาดคิดในการใช้คำต่างๆ เยอะมาก รู้สึกว่าเลยว่าเรายังต้องพัฒนาตัวเองอีกเยอะ


East side story เมื่อยุโรปมืด – ตะวันออกหม่น
อาจกล่าวได้ว่าหนังสือ ‘ยุโรปมืด’ ของ ‘พีรพัฒน์ ตัณฑวณิช’ คือหนังสือที่นำเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์โดยเล่าเรื่องผ่านสถานที่ มากกว่าการเป็นหนังสือท่องเที่ยวที่แทรกเกร็ดประวัติศาสตร์

คุยกับ พีรพัฒน์ ตัณฑวณิช “ยุโรปมืด” แล้วเอเชียสว่างไหม
หลังจากเจ็ดปีในต่างแดน โดยเรียนปริญญาโทที่ญี่ปุ่นสองปี และต่อปริญญาเอกที่แคนาดาอีกห้าปี ตั๊บ-พีรพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์และนักเขียนเจ้าของผลงาน “ยุโรปมืด” กลับมาเมืองไทยพร้อมปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์การพัฒนา และปัจจุบันทำงานให้กับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หลังจากเราตีพิมพ์ต้นฉบับของเขาจนเป็น Best Seller มานาน วันนี้อะบุ๊กเพิ่งได้พบหน้าค่าตากัน เราจึงชวนเขามาคุยกันสารพัดเรื่อง ทั้งการเมือง เศรษฐศาสตร์ และสงครามโลก ที่หลายคนอยากรู้ว่าจะเกิดขึ้นอีกไหมในชั่วชีวิตนี้ (แทบ) ทุกราชวงศ์เป็นลูกหนี้ชาวยิว ในหนังสือผมพูดถึงชาวยิวซึ่งเป็นชนชาติที่ถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองไปมากมาย และในขณะเดียวกัน รู้ไหมครับว่าตระกูลที่มั่งคั่งที่สุดก็ยังคงเป็น House of Rothschild ซึ่งคือยิวเหมือนกัน รวยมานาน และยังคงรวยอยู่ เป็นเจ้าของสถาบันการเงิน มีอิทธิพลทางการเงินสูงมากต่อโลก ราชวงศ์ไหนเปิดสงครามก่อน เขาก็จะไฟแนนซ์อีกฝั่งหนึ่ง พูดง่ายๆ คือทุกราชวงศ์เนี่ยเป็นลูกหนี้เขาหมดเลย ไม่ทำสงครามเพราะกลัวจน หลายคนเชื่อว่าที่เราไม่รบกันเพราะทุกประเทศคำนึงถึงเศรษฐกิจ ผลประโยชน์อาจเป็นแรงผลักดันที่ดีที่ทำให้เราเลี่ยงสงคราม อย่างอะลีบาบาก็ไม่อยากให้อเมริกาเกิดสงคราม เพราะอะลีบาบาก็เทรดอยู่ในตลาดนิวยอร์ก จริงอยู่ เมื่อก่อนนายทุนค้าอาวุธย่อมสนับสนุนให้เกิดสงคราม แต่ตอนนี้ถ้าเป็นสงครามสเกลใหญ่ ผมไม่มั่นใจว่ามันจะดีกับเขาหรือเปล่านะ เขาอาจจะอยากให้มีสเกลเล็กแล้วทุ่มไปกับรีเสิร์ช เพราะทุกวันนี้ เวลารบกันมันไม่ใช่ทหารราบรบกันแล้วครับ มันเป็นการรบด้วยรีเสิร์ชเสียเยอะ จริงๆ ผมไม่ค่อยรู้เรื่องพวกนี้นะครับ แต่ความเชื่อส่วนตัว ผมคิดว่าชั่วชีวิตผมไม่น่าจะได้เห็นสงครามสเกลใหญ่ขนาดนั้นอีกแล้ว แต่สงครามเล็ก ๆ น้อย […]

ภาพถ่ายและตัวอักษรที่สะท้อนตัวตนของ ADDCANDID ในปกหนังสือ ‘A(dd)-perture’
พีรพัฒน์ วิมลรังครัตน์ หรือ ADDCANDID ช่างภาพมากฝีมือระดับ Leica Thailand Ambassador ได้มาออกหนังสือที่เล่าเรื่องราวหลังเลนส์กล้องของเขา เขาถ่ายทอดมันออกมาด้วยสำนวนภาษาขี้เล่นและอารมณ์ดี โดยมีภาพถ่ายที่สวยและจับจังหวะอย่างเฉียบคมของเขาเป็นส่วนประกอบ สองสิ่งนี้กลายเป็นแรงบันดาลใจเบื้องหลังการออกแบบปกของ ’29thwinter’ ที่ตีความทั้งสองอย่างออกมาในรูปแบบของเธอ “ปกเล่มนี้เริ่มจากการเลือกรูปกันในกอง โดยมีโจทย์ว่าต้องเป็นรูปที่แสดงถึงสไตล์การถ่ายรูปของผู้เขียนอย่างชัดเจน เราจึงพยายามเลือกรูปที่ให้ความรู้สึกของการถูก snap และมีความ candid ในแบบของเขา การเลือกรูปที่ใช่นั้นค่อนข้างยาก เพราะรูปถ่ายของเขาสวยหมดทุกรูปเลย แต่เซตภาพที่เราชอบมากที่สุดคือเซต ‘ปารีส’ โดยเฉพาะรูป ‘the kiss’ ที่สำหรับเรามันยังเป็นรูปที่ใช่เสมอ แม้ว่ามันจะเคยใช้เป็นปก photobook ของเขาไปแล้วก็ตาม การเลือกใช้ฟอนต์ต่างกันในชื่อหนังสือบนปก เพราะเราอยากให้มีลูกเล่นที่สื่อถึงคาแรคเตอร์ความเป็นกันเองของผู้เขียน ซึ่งสอดคล้องกับเนื้อหาสนุกๆ ด้านในเล่ม การวางชื่อพาดตรงกลางเป็นความตั้งใจให้ตัววงเล็บคาดตรงปากของทั้งสองคนพอดี เพื่อให้ภาพดูน่าค้นหามากยิ่งขึ้นจากการที่เราได้ปิดบังบางส่วนไป เมื่อเราได้รูปกับฟอนต์ที่พอดีแล้ว องค์ประกอบอื่นๆ และสีที่เลือกจึงใช้เท่าที่จำเป็น ด้วยแนวคิดที่อยากให้มันออกมาแบบ minimal แต่ดูโดดเด่นไม่จืดชืด” สั่งซื้อหนังสือ ‘A(dd)-perture’ โดย ADDCANDID ได้แล้วที่ https://godaypoets.com/product/add-perture/