fbpx

Home / article / เรียนรู้ Visual Thinking ฉบับ Wrongdesign

เรียนรู้ Visual Thinking ฉบับ Wrongdesign

a book Publishing

Jul 2, 2019

เขียน: ซัลมา อินทรประชา
ภาพกราฟิก: กมลวัลท์ มงคลปัญญา
พิสูจน์อักษร: เบญจพร หรูวรวิจิตร

กรมัยพล สิริมงคลรุจิกุล หรือที่ในวงการกราฟิกดีไซน์รู้จักกันดีในชื่อของ พี่เบิ้ม – Wrongdesign อยู่เบื้องหลังการออกแบบปกหนังสือหลากหลายแนวตั้งแต่นิยายไทย วรรณกรรมแปล ไปจนถึงสารคดีประวัติศาสตร์ มาเป็นเวลากว่า 15 ปีแล้ว

กรมัยพล สิริมงคลรุจิกุล

พี่เบิ้มไม่ได้จบด้านการออกแบบโดยตรง แต่เมื่อเรียนจบแล้วต้องการให้พอร์ตโฟลิโอตัวเองแตกต่างจากที่เห็นได้ทั่วไป จึงไปลงคอร์สเรียนคอมพิวเตอร์ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวเข้าสู่เส้นทางนักออกแบบมืออาชีพ ซึ่งได้มาจากการเพียรเรียนรู้ด้วยตัวเองและประสบการณ์ที่ได้ทำงานร่วมกับคนมามากมาย

คลาส Visual Thinking

วันนี้พี่เบิ้มได้ส่งต่อวิชาให้กับเราโดยย่อยกระบวนการการออกแบบภาพจำให้กับตัวอักษรออกมาเป็นหัวข้อต่างๆ ดังนี้

ความรู้มาก่อน ความสวยงามมาทีหลัง

 “ปัญหาของคนทำงานออกแบบ เมื่อมาถึงส่วนที่ต้องจบงานร่วมกันกับคนหลายๆ คน มักจะหาข้อสรุปในชิ้นงานไม่ได้ เพราะใช้ความรู้สึกในการตัดสิน”

เป็นเพราะความชอบของแต่ละคนเกิดจากประสบการณ์ส่วนตัวที่ไม่มีถูกหรือผิด จึงไม่แปลกที่แต่ละคนจะเห็นสิ่งต่างๆ สวยงามไม่เท่ากัน ดังนั้นทางออกของปัญหาที่ว่า คือการใช้ความรู้เฉพาะทางในวิชาชีพมาเป็นตัวช่วยในการตัดสิน ในฐานะคนออกแบบหน้าปกหนังสือ พี่เบิ้มจึงให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ในด้านเทคนิคและความเข้าใจในวิธีการพิมพ์งานเพื่อให้ได้ชิ้นงานที่ใกล้เคียงมากที่สุดกับภาพต้นฉบับซึ่งเกิดขึ้นในคอมพิวเตอร์

ความแตกต่างระหว่างสี RGB และ CMYK

อย่างเช่นสีของภาพที่เห็นในจอคอมพิวเตอร์กับสีที่พิมพ์งานออกมามักจะแตกต่างกันเสมอ นั่นเป็นเพราะระบบสีที่ใช้ในคอมพิวเตอร์คือ RGB และระบบสีที่ใช้ในการพิมพ์คือ CMYK

ภาพจาก: https://plumgroveinc.com/how-to-print-rich-black-color/

หรือแม้แต่สีดำเองก็มีความแตกต่างเช่นกัน ขึ้นอยู่กับเม็ดสีในการสั่งพิมพ์ และคนที่เข้าใจระบบการพิมพ์งานจริงๆ ถึงจะรู้ว่าควรสั่งพิมพ์ออกมาอย่างไรให้ใกล้เคียงกับสีดำที่ต้องการมากที่สุด หากความรู้ในเทคนิคและวิชาชีพเปิดกว้างมากเท่าไหร่ ก็จะลดข้อจำกัดในการสร้างสรรค์ได้มากเท่านั้น

เข้าใจความหมายที่แท้จริงของคำ 

“ยิ่งคุณทำงานเกี่ยวกับภาพมากเท่าไหร่ คุณต้องย้อนกลับไปที่ตัวคำมากเท่านั้น”

คำและภาษาจะช่วยจัดระบบความคิดในสมองแล้วค่อยเปลี่ยนเป็นภาพ พี่เบิ้มยกตัวอย่างรูปขึ้นมาสองรูป แม้จะเป็นภาพวาดทั้งคู่ แต่เห็นแล้วเข้าใจทันทีว่ารูปหนึ่งสื่อถึงอารมณ์ความรู้สึก ส่วนอีกรูปสื่อถึงเลือดเนื้อในร่างกาย ทั้งที่ภาพทั้งสองนี้ใช้คำคำเดียวกัน คือ ‘หัวใจ (Heart)’

หลังจากนั้น เมื่อนำคำว่าหัวใจไปคู่กับคำอื่นๆ ก็จะเกิดเป็นภาพใหม่ เช่น หัวใจกับการตกหลุมรัก หัวใจกับความศรัทธา หรือหัวใจกับความผิดหวัง

คำตั้งต้นคำเดียวกัน แต่เมื่อเพิ่มบริบทที่แตกต่างกันให้กับคำตั้งต้นแล้ว ภาพที่ออกมาก็จะแตกต่างกัน แม้ว่าทั้งสามภาพนี้จะมีวิธีแสดงภาพออกมาคล้ายกัน คือ ภาพหัวใจที่เกิดบาดแผล แต่เรารู้ความหมายของภาพทันทีว่าในแต่ละภาพแตกต่างกัน นั่นเป็นเพราะคำที่มาเสริมคำว่า ‘หัวใจ’ ของแต่ละภาพไม่เหมือนกัน

แบบร่างยิ่งเยอะยิ่งเห็นความเป็นไปได้

การออกแบบหน้าปกหนังสือเป็นอีกขั้นของความท้าทาย เพราะมันคือการเปลี่ยนหนังสือทั้งเล่มที่มีเป็นหมื่นๆ คำให้กลายเป็นภาพภาพเดียว พี่เบิ้มเปิดตัวอย่างงานหน้าปกหนังสือเล่มหนึ่งให้พวกเราดู สำหรับหน้าปกหนังสือเพียงหนึ่งเล่ม ชิ้นงานร่างที่ถูกไล่ผ่านจอไปเรื่อยๆ นั้นมีไม่ต่ำกว่า 15 แบบ

“หลังจากได้รับโจทย์มา เราจะกลับมาทำชิ้นงานร่าง (Draft design) เพื่อที่จะเอามาคุยกับผู้ที่ทำงานร่วมกัน ในที่นี้คือบรรณาธิการ ยิ่งทำเยอะก็ยิ่งเป็นการสำรวจความเป็นไปได้ในงานออกแบบ”

การสื่อสารด้วยภาพไม่มีผลลัพธ์ว่าอะไรดีที่สุดหรือถูกต้องที่สุด ในตอนท้าย ภาพที่ถูกเลือกไปใช้คือภาพที่สื่อสารกับบริบทนั้นได้ดีที่สุด แต่ในทางกลับกัน เมื่อเปลี่ยนไปอยู่ในบริบทอื่นอาจใช้ภาพเดียวกันนี้ไม่ได้

จึงไม่แปลกที่ภาพหน้าปกของหนังสือเรื่องเดียวกันที่พิมพ์ในประเทศไทยกับประเทศอื่นถึงมีหน้าปกคนละแบบกัน เพราะคนออกแบบควรเลือกภาพที่สังคมนั้นๆ ตอบรับ

หนังสือเรื่อง Sum: Forty Tales from the Afterlives ของเดวิด อีเกิลแมน จากประเทศไทย ออกแบบหน้าปกโดยมานิตา ส่งเสริม (ภาพซ้าย) และประเทศสหรัฐอเมริกา (ภาพขวา)

คิดให้ไกลและให้แตกต่าง 

ปกหนังสือ ชายเฒ่ากลางทะเลลึก (The Old Man and The Sea)

แทนที่จะทำหน้าปกหนังสือชายเฒ่ากลางทะเลลึก (The Old Man and The Sea) ในรูปแบบที่คุ้นเคยกันดีอย่างภาพชายชราผู้กำลังออกทะเล พี่เบิ้มเลือกที่จะเล่าให้เห็นความเวิ้งว้างกว้างใหญ่ของทะเลเทียบกับเรือลำจิ๋ว แถมกิมมิกเล็กน้อยที่ซ่อนไว้กับวิธีการพับหน้าปกด้วย เพื่อที่จะให้หนังสือมีวิธีสื่อสารกับคนอ่านเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในยุคที่ดิจิทัลเข้ามาแย่งความสนใจผู้คนไปจากการอ่านหนังสือ

รู้จักคนอ่าน 

หนังสือธรรมะชุดหนึ่งที่พี่เบิ้มเคยออกแบบ โจทย์คือให้แตกต่างจากหนังสือธรรมะเดิมๆ งานนั้นเป็นงานที่พี่เบิ้มสนุกและสุดกับการออกแบบมาก หลังจากหนังสือถูกตีพิมพ์ออกไปต้องยอมรับว่าเป็นงานที่ประสบความสำเร็จด้านวิชาชีพ ได้รับคำชื่นชมมากมาย แต่ภายหลังกลับพบว่าหน้าปกไม่สามารถสื่อสารกับกลุ่มผู้อ่านได้ คนที่ชอบหน้าปกไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายที่อ่านหนังสือธรรมะ และกลุ่มเป้าหมายที่อ่านหนังสือธรรมะกลับมองแล้วไม่รู้ว่าเป็นหนังสือธรรมะ ครั้งนั้นทำให้พี่เบิ้มได้กลับมาคิดว่าการออกแบบหน้าปกมีผลต่อคนซื้อ และมันคือผลกระทบที่นักออกแบบปกมีผลต่อหนังสือ

หนังสือธรรมะที่ออกแบบให้หน้าปกแตกต่างจากหนังสือธรรมะเดิมๆ

หลังจากวันนั้นพี่เบิ้มเลยกลับมาตั้งต้นในการทำงานใหม่ กลับมามองว่าผู้เขียนคือใคร ผู้อ่านคือใคร และงานออกแบบปกสามารถสร้างจุดเชื่อมระหว่างสารที่หนังสือต้องการสื่อถึงผู้อ่านได้อย่างไร เมื่อต้องทำหนังสือเพื่อตอบสนองกลุ่มเป้าหมายที่เป็นนักอ่านผู้หญิง หนังสือที่มีหน้าปกสีหวานละมุนเหล่านี้จึงกำเนิดขึ้น และผลลัพธ์ที่ตามมาก็ถือว่ามาถูกทาง

หน้าปกที่ออกแบบมาเพื่อกลุ่มผู้อ่านที่เป็นผู้หญิง

อย่าเพิ่งเชื่อ ให้ตั้งคำถาม 

การออกแบบหนังสือชีวประวัติบุคคลสำคัญมักจะใช้ภาพที่ดูสุขุมของบุคคลนั้น และไม่กล้าใส่ลูกเล่นมากมายซ้อนทับภาพ ด้วยกลัวว่าจะหมดความน่าเชื่อถือ มุมมองที่มีต่อบุคคลสำคัญเหล่านี้ถูกตีด้วยกรอบเดิมๆ มาตลอด พี่เบิ้มจึงลองคิดในมุมกลับทั้งหมดดู พวกเขาเหล่านี้มีมุมเดียวเท่านั้นจริงหรือ หากเล่าถึงบุคคลเหล่านี้ในมุมเดิมๆ กลุ่มผู้อ่านรุ่นใหม่จะสนใจหรือไม่ แล้วพี่เบิ้มจึงตัดสินใจออกแบบปกหนังสือชีวประวัติที่ฉีกกฎเดิมทิ้งทั้งหมด เพื่อแสดงถึงความเป็นมนุษย์ที่เข้าถึงง่ายมากขึ้นโดยเริ่มจากการศึกษาชีวประวัติของบุคคลนั้นๆ แล้วนำมุมที่น่าสนใจออกมาใช้ 

ไม่ว่าจะเป็นการใช้ภาพของเฮมิงเวย์ที่ดูง่ายๆ สบายๆ ทับด้วยอักษรลายมือเขียนที่ให้ความรู้สึกว่าอยู่นอกกรอบ หรือความกล้าที่จะใช้วิธีการฉีกกระดาษพาดผ่านใบหน้าเหมา เจ๋อตุง การฉีกกระดาษออกนั้นหมายถึงการเปิดเผยเรื่องราวเบื้องหลัง แล้วใช้ลักษณะการฉีกที่พาดผ่านกลางหน้า สื่อถึงเนื้อหาภายในหนังสือ อย่างเล่มสีแดงที่รอยฉีกเบี้ยวเล่าถึงประธานเหมาในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ ขณะที่เล่มสีเขียวที่รอยฉีกกระดาษเป็นเส้นตรงมีระเบียบก็เล่าเรื่องราวของประธานเหมาในเชิงสนับสนุนเทิดทูน

 ความเรียบง่าย เป็นคำตอบที่ชัดเจนที่สุด

โดยเฉพาะกับหนังสือในหมวดการศึกษา ประวัติศาสตร์ หรือสารคดี ต้องมองเห็นครั้งแรกแล้วเข้าใจทันที โดยการเลือกหยิบเอาองค์ประกอบพื้นฐานง่ายๆ ออกมาใช้ ในทางกลับกันก็ลับในส่วนของวิธีคิดให้คมเข้าไว้

ไม่ว่าจะเป็นการทำให้ภาพจริงโดดเด่นด้วยการใช้พื้นหลังวงกลมสามสี แทนพี่น้องสามคนตามชื่อหนังสือ สามมุกงามสกุลซ่ง หรือ หนังสือเรื่อง เรื่องเล่าของสาวรับใช้ The Handmaid’s Tale ที่ใช้เพียงรูปทรงของสามเหลี่ยม เส้นโค้ง กลายเป็นใบหน้าด้านข้างของผู้หญิง และทิ้งภาพในส่วนของเนกาทีฟสเปซที่เป็นภาพของใบหน้าผู้ชายด้านข้างให้ดูเป็นการคุกคาม ในขณะที่ปกหลังแทนที่จะเป็นคำโปรยเนื้อหาหนังสือ แต่กลับมีเพียงคำว่า of_____ เป็นการสื่อถึงตัวละครนั้นที่สูญสิ้นอิสรภาพ ถูกใครเป็นเจ้าของก็ได้ 

นักออกแบบมักหยิบเอาสิ่งที่คนอื่นๆ อาจจะเห็นจนชินแต่อาจไม่เคยสังเกตมาใช้ ซึ่งสิ่งเหล่านั้นสามารถสื่อสารกับคนได้เข้าใจตรงกันในทันที

อย่างเล่ม คมปัญญาจักรพรรดิเฉียนหลง และ วาทะจักรพรรดิคังซี ใช้องค์ประกอบของภาพท้องพระโรงในราชวงศ์จีนที่เห็นกันในภาพยนตร์บ่อยๆ มาตัดทอน 

แล้วสร้างจุดนำสายตาด้วยพื้นลายโมเดิร์นที่เรียบง่าย กลายเป็นความน่าสนใจด้วยองค์ประกอบคลาสสิกกับกราฟิกสมัยใหม่

นักออกแบบมักจะมีปัญหากับการนำตัวอักษรไทยมาใช้งานให้สวยงาม เป็นเพราะวรรณยุกต์และสระที่รบกวนสายตา ทำให้งานออกมาดูไม่เป็นระเบียบ แต่ข้อรบกวนใจข้างต้นกลับเข้ากันได้ดีกับตำราโบราณ สำหรับงานออกแบบหน้าปกหนังสือชุดของหลวงวิจิตรวาทการ ซึ่งเป็นหนังสือที่ถูกพิมพ์ซ้ำหลายครั้ง พี่เบิ้มลองคิดใหม่  รื้อกรอบเดิมๆ ทิ้ง ลองใช้ฟ้อนต์ไทยเยอะๆ แทน

“ถึงองค์ประกอบในการออกแบบของเราจะเยอะแค่ไหน แต่ให้นึกถึงสัดส่วนที่เหมาะสมของการจัดวางภาพ ตัวอักษร และที่ว่างด้วย”

งานหลายชิ้นที่พี่เบิ้มยกตัวอย่างให้ดู นอกจากหน้าปกจะโดดเด่น ดึงดูดสายตา เพราะการวางองค์ประกอบและสีสันที่ลงตัวแล้ว ลูกเล่นของการออกแบบปกก็มีหลากหลายเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็นหนังสือชุดสามเล่มที่เมื่อเอามาเรียงต่อกันแล้วกลายเป็นภาพดาบเล่มยาวเต็มๆ หรือหนังสือ Bangkok: Handmade Transit – กรุงเทพฯ: ขนส่งทำมือ ที่เนื้อหาพูดถึงการเชื่อมต่อระหว่างขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ ก็ออกแบบให้สามารถเอาหน้าปกมาวางเชื่อมต่อกันได้ไม่มีที่สิ้นสุด รวมถึงหนังสือ จากจักรพรรดิสู่สามัญชน ที่หน้าปกออกแบบโดยใช้ภาพของผู่อี๋สองภาพให้สามารถพับลงมาเทียบกันได้ ภาพหนึ่งคือภาพครั้งยังเป็นจักรพรรดิ และอีกภาพคือตอนที่เป็นสามัญชน การทำงานตลอด 15 ปีของพี่เบิ้มแสดงให้เราเห็นแล้วว่าไอเดียนั้นต่อยอดไปเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด

บางไอเดียอาจเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ถูกมองข้าม เช่น การนำเลย์เอาต์ของหน้าหนังสือพิมพ์มาใช้เป็นปกหนังสือ ปฏิวัติ 2475 เพราะในยุคนั้นเรารับรู้เหตุการณ์ทางการเมืองผ่านทางหนังสือพิมพ์ ซึ่งพอนำมาเป็นไอเดียตั้งต้น ก็ทำให้หนังสือเล่มนี้น่าสนใจและสื่อเนื้อหาได้ดี 

แต่กว่างานออกแบบของเราจะออกไปสู่สังคมภายนอก เราต้องเจอข้อจำกัดต่างๆ ระหว่างทางเสมอ สิ่งที่เราควรทำคืออย่าให้ข้อจำกัดนั้นมาจำกัดความคิดสร้างสรรค์ของเรา เช่นหนังสือเล่มนี้ที่ตอนแรกพี่เบิ้มตั้งใจจะใช้คำแถลงของคณะปฏิวัติมาโปรยปก ซึ่งทางบ.ก.กลับมองว่าเป็นเรื่องเซนซิทีฟเกินไป จึงเปลี่ยนมาใช้เนื้อหาในเล่มแทน แต่อย่างน้อยในฐานะนักออกแบบ พี่เบิ้มสอนว่าเวลาเราคิด เราต้องคิดให้สุดไว้ก่อน 

พี่เบิ้มทิ้งท้ายว่าจงมองหาความเป็นไปได้สูงสุดของการออกแบบ เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุดของคนทำงานออกแบบคือ ‘เสรีภาพในความคิด’ นั่นเอง

ภาพอื่นๆ : https://rock-cafe.info
https://stampmore.com
https://www.pinclipart.com
https://plumgroveinc.com
http://clipart-library.com
https://thenounproject.com
http://mostsacredheart.com/pictures/
Sangdao Book
Openworlds
a day magazine
https://www.facebook.com/wrongdesignpage/
https://www.pinterest.com/wrongdesign/

East side story เมื่อยุโรปมืด – ตะวันออกหม่น

อาจกล่าวได้ว่าหนังสือ ‘ยุโรปมืด’ ของ ‘พีรพัฒน์ ตัณฑวณิช’ คือหนังสือที่นำเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์โดยเล่าเรื่องผ่านสถานที่ มากกว่าการเป็นหนังสือท่องเที่ยวที่แทรกเกร็ดประวัติศาสตร์

view more

คุยกับ พีรพัฒน์ ตัณฑวณิช “ยุโรปมืด” แล้วเอเชียสว่างไหม

หลังจากเจ็ดปีในต่างแดน โดยเรียนปริญญาโทที่ญี่ปุ่นสองปี และต่อปริญญาเอกที่แคนาดาอีกห้าปี ตั๊บ-พีรพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์และนักเขียนเจ้าของผลงาน “ยุโรปมืด” กลับมาเมืองไทยพร้อมปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์การพัฒนา และปัจจุบันทำงานให้กับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หลังจากเราตีพิมพ์ต้นฉบับของเขาจนเป็น Best Seller มานาน วันนี้อะบุ๊กเพิ่งได้พบหน้าค่าตากัน เราจึงชวนเขามาคุยกันสารพัดเรื่อง ทั้งการเมือง เศรษฐศาสตร์ และสงครามโลก ที่หลายคนอยากรู้ว่าจะเกิดขึ้นอีกไหมในชั่วชีวิตนี้ (แทบ) ทุกราชวงศ์เป็นลูกหนี้ชาวยิว ในหนังสือผมพูดถึงชาวยิวซึ่งเป็นชนชาติที่ถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองไปมากมาย และในขณะเดียวกัน รู้ไหมครับว่าตระกูลที่มั่งคั่งที่สุดก็ยังคงเป็น House of Rothschild ซึ่งคือยิวเหมือนกัน รวยมานาน และยังคงรวยอยู่ เป็นเจ้าของสถาบันการเงิน มีอิทธิพลทางการเงินสูงมากต่อโลก ราชวงศ์ไหนเปิดสงครามก่อน เขาก็จะไฟแนนซ์อีกฝั่งหนึ่ง พูดง่ายๆ คือทุกราชวงศ์เนี่ยเป็นลูกหนี้เขาหมดเลย ไม่ทำสงครามเพราะกลัวจน หลายคนเชื่อว่าที่เราไม่รบกันเพราะทุกประเทศคำนึงถึงเศรษฐกิจ ผลประโยชน์อาจเป็นแรงผลักดันที่ดีที่ทำให้เราเลี่ยงสงคราม อย่างอะลีบาบาก็ไม่อยากให้อเมริกาเกิดสงคราม เพราะอะลีบาบาก็เทรดอยู่ในตลาดนิวยอร์ก จริงอยู่ เมื่อก่อนนายทุนค้าอาวุธย่อมสนับสนุนให้เกิดสงคราม แต่ตอนนี้ถ้าเป็นสงครามสเกลใหญ่ ผมไม่มั่นใจว่ามันจะดีกับเขาหรือเปล่านะ เขาอาจจะอยากให้มีสเกลเล็กแล้วทุ่มไปกับรีเสิร์ช เพราะทุกวันนี้ เวลารบกันมันไม่ใช่ทหารราบรบกันแล้วครับ มันเป็นการรบด้วยรีเสิร์ชเสียเยอะ จริงๆ ผมไม่ค่อยรู้เรื่องพวกนี้นะครับ แต่ความเชื่อส่วนตัว ผมคิดว่าชั่วชีวิตผมไม่น่าจะได้เห็นสงครามสเกลใหญ่ขนาดนั้นอีกแล้ว แต่สงครามเล็ก ๆ น้อย […]

view more

ภาพถ่ายและตัวอักษรที่สะท้อนตัวตนของ ADDCANDID ในปกหนังสือ ‘A(dd)-perture’

พีรพัฒน์ วิมลรังครัตน์ หรือ ADDCANDID ช่างภาพมากฝีมือระดับ Leica Thailand Ambassador ได้มาออกหนังสือที่เล่าเรื่องราวหลังเลนส์กล้องของเขา เขาถ่ายทอดมันออกมาด้วยสำนวนภาษาขี้เล่นและอารมณ์ดี โดยมีภาพถ่ายที่สวยและจับจังหวะอย่างเฉียบคมของเขาเป็นส่วนประกอบ สองสิ่งนี้กลายเป็นแรงบันดาลใจเบื้องหลังการออกแบบปกของ ’29thwinter’ ที่ตีความทั้งสองอย่างออกมาในรูปแบบของเธอ “ปกเล่มนี้เริ่มจากการเลือกรูปกันในกอง โดยมีโจทย์ว่าต้องเป็นรูปที่แสดงถึงสไตล์การถ่ายรูปของผู้เขียนอย่างชัดเจน เราจึงพยายามเลือกรูปที่ให้ความรู้สึกของการถูก snap และมีความ candid ในแบบของเขา การเลือกรูปที่ใช่นั้นค่อนข้างยาก เพราะรูปถ่ายของเขาสวยหมดทุกรูปเลย แต่เซตภาพที่เราชอบมากที่สุดคือเซต ‘ปารีส’ โดยเฉพาะรูป ‘the kiss’ ที่สำหรับเรามันยังเป็นรูปที่ใช่เสมอ แม้ว่ามันจะเคยใช้เป็นปก photobook ของเขาไปแล้วก็ตาม  การเลือกใช้ฟอนต์ต่างกันในชื่อหนังสือบนปก เพราะเราอยากให้มีลูกเล่นที่สื่อถึงคาแรคเตอร์ความเป็นกันเองของผู้เขียน ซึ่งสอดคล้องกับเนื้อหาสนุกๆ ด้านในเล่ม การวางชื่อพาดตรงกลางเป็นความตั้งใจให้ตัววงเล็บคาดตรงปากของทั้งสองคนพอดี เพื่อให้ภาพดูน่าค้นหามากยิ่งขึ้นจากการที่เราได้ปิดบังบางส่วนไป เมื่อเราได้รูปกับฟอนต์ที่พอดีแล้ว องค์ประกอบอื่นๆ และสีที่เลือกจึงใช้เท่าที่จำเป็น ด้วยแนวคิดที่อยากให้มันออกมาแบบ minimal แต่ดูโดดเด่นไม่จืดชืด” สั่งซื้อหนังสือ ‘A(dd)-perture’ โดย ADDCANDID ได้แล้วที่ https://godaypoets.com/product/add-perture/

view more