Home / article / หนุ่ม-โตมร ศุขปรีชา กับคลาสเรียนที่เปลี่ยนนักอยากเขียนให้เป็นนักเขียน
หนุ่ม-โตมร ศุขปรีชา กับคลาสเรียนที่เปลี่ยนนักอยากเขียนให้เป็นนักเขียน
a book Publishing
Jun 20, 2019

เขียน: ซัลมา อินทรประชา
ภาพ: กมลวัลท์ มงคลปัญญา
พิสูจน์อักษร: เบญจพร หรูวรวิจิตร
เหล่าวัยรุ่นต่างใช้ความฝันเป็นแสงส่องหาเส้นทางและตัวตนในชีวิตของตัวเอง และจะเป็นเช่นนั้นเพียงช่วงหนึ่งสั้นๆ ก่อนความจริงจะเปลี่ยนแปลงให้พวกเขาก้าวสู่การเติบโตและมองโลกสดใสน้อยลง
เช้าวันจันทร์ที่ฟ้าเปียกฝน พวกเราชาวจูเนียร์หลายสิบชีวิต รวมตัวกันในห้องบรรยายที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิทยากรที่เรารอคอยก้าวเข้ามาพร้อมรอยยิ้มขรึมๆ ตอนสิบโมงตรงตามเวลานัด อดรู้สึกตื่นเต้นไม่ได้ที่เห็นพี่หนุ่ม-โตมร ศุขปรีชา ตัวเป็นๆ ผู้ผ่านมาทั้งงานเขียนบทความ หนังสือฟิกชั่น นอนฟิกชั่น งานแปล รวมถึงเป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์ ยืนเตรียมอุปกรณ์อยู่ตรงหน้าเรา ว่าแต่…เขาจะดุไหมนะ
พี่หนุ่มเปิดบทสนทนาด้วยความจริงในโลกของผู้ใหญ่ที่เราฟังแล้วหัวร้อน
“รู้ไหมอาชีพนักเขียน สรรพากรถือว่าเป็นอาชีพที่ไม่มีต้นทุน” เราทุกคนงง “เวลานักเขียนเขียนงานออกมา หากไม่ได้เป็นคนจัดพิมพ์งานเอง สามารถยื่นขอลดหย่อนภาษีได้น้อยมาก หากเทียบกับอาชีพนักแสดง”
แม้น้ำเสียงพี่หนุ่มจะนุ่มนวลและใช้ถ้อยคำติดตลก แต่เนื้อหานั้นฟังแล้วหดหู่ ผลงานที่ใช้ทั้งระยะเวลาในการสั่งสมข้อมูล กับประสบการณ์ของนักเขียน กลับไม่ถูกให้ค่า เพราะสังคมไทยนิยมเสพเรื่องราวที่ถ่ายทอดด้วยปาก มากกว่าจะอ่านจากงานเขียน และยังชอบเสพอารมณ์ความรู้สึก มากกว่าตรรกะและเหตุผล จึงไม่แปลกที่ประเทศนี้ นักแสดงหรือนักร้องจะรวยกว่านักเขียน
จากเรื่องเล่าข้างต้น พี่หนุ่มจบด้วยประโยคที่มืออาชีพมักใช้ถามเด็กหน้าใหม่ที่มีแต่ใจกับไฟฝันว่า
“ฟังแล้วยังอยากเป็นนักเขียนอยู่มั้ย”
ไม่ว่าการเป็นนักร้องนักแสดงจะรวยแค่ไหน แต่ตอนนี้นักเขียนมืออาชีพกำลังยืนอยู่ตรงหน้าเรา ถึงพี่หนุ่มจะออกปากว่านักเขียนรวยสู้นักแสดงไม่ได้ แต่จากผลงานมากมายก็ทำให้เรามั่นใจว่ามีบางอย่างที่ทำให้พี่หนุ่มยังรักในการเขียนอยู่
“การเขียนเป็นการตัดต่อความทรงจำ” พี่หนุ่มเปิดประเด็น ก่อนพาพวกเราไปสู่ทักษะแรกของการเป็นนักเขียนที่ดี
โห…ขนลุก
What is your pain points?
พี่หนุ่มเล่าถึง วิเวียน เวสต์วูด ผู้มีพื้นเพมาจากชนชั้นแรงงาน อุทิศชีวิตให้วงการแฟชั่นด้วยความคิดที่จะทำให้เสื้อผ้าจากชนชั้นล่างกลายเป็นแฟชั่นของชนชั้นสูง การออกแบบของเธอจึงมีเรื่องราวและมีเอกลักษณ์ของตัวเอง ใช่แล้ว งานของเธอ ‘เล่าเรื่อง’ ได้
การเขียนที่ดีควรเริ่มด้วยความรู้สึกอัดอั้นที่อยากระบาย ไม่จำเป็นจะต้องเป็นเรื่องเศร้า เจ็บปวด หรือน่าโมโห แต่รวมถึงความรู้สึกสุขล้น หรือซาบซึ้งใจด้วย พี่หนุ่มบอกว่ามันคือคำว่า pain points เป็นแพสชั่นที่คั่งอยู่ภายใน เกิดเป็นเรื่องราวที่อยากจะบอกต่อ มันคือตัวตนที่ต้องการให้ผู้คนรับรู้หรือมองเห็น และจะชัดเจนตอนที่มันขัดแย้งกับกรอบของสังคม
pain points ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องของตัวเองก็ได้ แต่การมีความรู้สึกร่วมกับ pain points ของผู้อื่นก็สามารถนำมาเป็นขุมพลังในการเขียนได้เช่นกัน พี่หนุ่มใช้คำว่า mirror neurons ซึ่งคือเซลล์สมองที่ทำให้เราเข้าถึงภาวะจิตใจของผู้อื่นได้ แม้เรื่องนั้นจะไม่ได้เกิดขึ้นกับตัวเราเองเลยก็ตาม ซึ่งการจะค้นพบ pain points ของผู้อื่นได้นั้น จำเป็นต้องฝึกให้ตัวเองเป็นคนละเอียดในการสังเกตความรู้สึกของผู้อื่น
Practice conceptualization
หากใช้อารมณ์ความรู้สึกนำทางอย่างเดียว งานเขียนจะดูเลื่อนลอยจนขาดความน่าเชื่อถือ พี่หนุ่มปลดล็อกทักษะต่อมาให้รู้จัก เรียกว่า conceptualization คือการมองโครงสร้างใหญ่ของเรื่องทั้งหมด เป็นทักษะสำคัญที่ทำให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องราวได้อย่างง่ายดาย เป็นขั้นเป็นตอน และสามารถติดตามงานเขียนอย่างลื่นไหลได้ตั้งแต่ต้นจนจบ
“ถ้าเอา conceptualization มารวมกับ pain points ในข้อแรก จะกลายเป็นการจุดระเบิดที่มีอานุภาพ”
ในขณะที่ pain points เหมือนดอกไม้หนึ่งดอก conceptualization เปรียบเหมือนภาพรวมของทั้งป่า กระบวนการ conceptualization ก็เหมือนการใช้โดรนเพื่อมองเห็นทั้งป่า เมื่อเรามองภาพรวม มองเห็นโครงสร้างที่แท้จริง เราจะรู้ว่าดอกไม้ของเรามาอยู่ตรงนั้นได้อย่างไร เหมาะสมกับพื้นที่ไหม หรือแม้กระทั่งมันเป็นดอกไม้จริงหรือเปล่า แปลว่าเมื่อเรามองเห็นโครงสร้างของเรื่องราวทั้งหมด เราก็จะได้รู้ทันทีว่า pain points ของเราสมเหตุสมผลหรือไม่ มีคนมากน้อยแค่ไหนที่รู้สึกร่วมไปกับความรู้สึกนี้ และเราจะใช้ความรู้สึกนี้บอกเล่าอย่างคมคายให้จับใจคนได้อย่างไร
พวกเราคนหนึ่งยกมือขึ้นถาม
“จะเขียนงานให้น่าติดตามได้อย่างไร”
พี่หนุ่มตอบว่า ให้กำหนดจุดเริ่มต้นและจุดจบไว้เป็นขอบเขตของเรื่องราว เหมือนวงเล็บเปิดกับวงเล็บปิด แล้วระหว่างช่องว่างของวงเล็บ ก็ใช้อารมณ์ความรู้สึกเขียนให้เรื่องราวไหลไปเอง การทำแบบนี้จะทำให้เราหาทางกลับเข้ามาอยู่ในวงเล็บปิดได้โดยไม่หลงทาง และเป็นวิธีที่ทำให้คนติดตามเรื่องราวจนได้คำตอบในตอนสุดท้ายด้วยเช่นกัน
“หรืออาจจะใช้วิธีหมั่นทิ้งปมให้น่าติดตามจากย่อหน้าที่หนึ่ง ไปหาคำตอบในย่อหน้าที่สอง นักเขียนบางคนคิดแม้แต่การจัดวางตำแหน่งของเนื้อหาว่าควรหยุดพักการดำเนินเรื่องตรงไหน เพื่อทำให้คนอ่านรู้สึกอยากรู้ อยากอ่านหน้าถัดไป วิธีนี้ใช้ได้ไม่ว่ากับการเขียนแบบฟิกชั่นหรือนอนฟิกชั่นนะครับ”
Qualified by stories crossing
สไลด์ต่อมาพี่หนุ่มเตือนก่อนเลยว่า “อันนี้ก็ยาก”
เพื่อทำให้กลายเป็นงานเขียนที่มีคุณภาพยิ่งขึ้น เราต้องรู้จักวิธี stories crossing ซึ่งทำให้เรื่องของเราไม่เหมือนเรื่องของคนอื่น สำหรับการเขียน การหาข้อมูลที่หลากหลายเป็นสิ่งที่สำคัญ
“การเขียนเรื่องหนึ่ง ให้ใช้มุมมองที่แตกต่างกันมาผสมผสานจนเกิดเป็นมุมมองของเรา มันจะเป็นมากกว่าเรื่องเล่าธรรมดาๆ”
การฝึกใช้ stories crossing บ่อยๆ จนชำนาญ จะทำให้มองเห็นจุดเชื่อมระหว่างเรื่องสองเรื่อง หรือข่าวสองข่าวที่ไม่ได้เกี่ยวพันกัน และนำมาเขียนจนกลายเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยมีใครเขียนถึงมาก่อน
พวกเรายิ่งฟังยิ่งรู้สึกว่า นักเขียนที่ดีต้องทำงานคราฟต์ขนาดนี้ จะมาบอกว่านักเขียนไม่มีต้นทุนได้อย่างไร
จากสิ่งที่พี่หนุ่มพูดไว้ในตอนต้นคือ “การเขียนเป็นการตัดต่อความทรงจำ” เรารู้สึกว่ามันเป็นคำที่เท่เฉยๆ แต่ตอนนี้เข้าใจกระจ่างทันทีว่าใต้ความเท่มีความจริง เพราะการจะมีข้อมูลอันน่าเชื่อถือเก็บไว้เป็นคลังเพื่อหยิบมาเขียนได้นั้น ต้องมาจากการแสวงหาและซึมซับเรื่องราวในทุกวัน พี่หนุ่มเรียกว่า daily input ซึ่งปัจจุบันเราสามารถหาเรื่องราวและข่าวสารได้จากทุกที่ อยู่ที่เราว่าจะเลือกเก็บไว้หรือปล่อยผ่านไป โซเชียลมีเดียหลายแอพมีข่าวจากหลายสำนักเลื่อนผ่านตามากมาย เราจะอ่านหรือไถนิ้วผ่านไปก็แล้วแต่เรา
world trends
ในหัวข้อสุดท้าย พี่หนุ่มพูดถึงความจำเป็นที่จะต้องติดตามทิศทางกระแสสังคมโลก เพราะเรื่องราวทุกเรื่องล้วนเกี่ยวพันกันหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ‘urbanization’ หรือการเติบโตของเมือง การรวมตัวของผู้คนมหาศาลในเมืองหลวง การเดินทางที่สะดวกง่ายดายจากเมืองหนึ่งสู่เมืองหนึ่ง แม้แต่เมืองต่างจังหวัดเล็กๆ ทุกเมืองก็มีเรื่องเล่า มีเอกลักษณ์ของตนเอง พี่หนุ่มยกตัวอย่างประเด็น ‘ageing society’ ที่ในอีกไม่ถึง 10 ปี เรากำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แต่ผู้สูงอายุแห่งอนาคตย่อมมีไลฟ์สไตล์แตกต่างจากผู้สูงอายุที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบัน มีแนวโน้มว่าพวกเขาน่าจะแข็งแรงกระฉับกระเฉง อยากออกมาทำกิจกรรมนอกบ้าน ดังนั้นเมืองที่ดีก็ควรรองรับพฤติกรรมคนกลุ่มนี้ได้อย่างปลอดภัยด้วย และยังสัมพันธ์ไปถึง ‘generation clash’ การเข้ามาแทรกกลางอย่างรวดเร็วของโซเชียลมีเดียที่แยกคนสองรุ่นออกจากกัน จนเกิดเป็นช่องว่างระหว่างวัย ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงธรรมชาติของความสัมพันธ์ในสังคมตะวันออก ที่เดิมมีวิธีคิดแบบ ‘รวมหมู่’ อย่างการอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ โดยมีหัวหน้าครอบครัว หรือผู้อาวุโสคอยชี้แนะผู้น้อยจากประสบการณ์เดิมของตนเอง ปัจจุบันคนรุ่นใหม่เกิดวิธีการคิดแบบสังคมตะวันตก ซึ่งเป็นการคิดแบบ ‘ปัจเจก’ เชื่อถือตัวเองเป็นหลัก ไม่ขอความช่วยเหลือหรือพึ่งพาผู้อื่น สงสัยอะไรก็หาคำตอบเองได้ด้วยอินเทอร์เน็ต
ในฐานะที่พวกเราอยู่ในช่วงวัยที่ต้องการความเป็นปัจเจก เราจึงรู้สึกคล้อยตามกับความเปลี่ยนแปลงนี้ และคิดว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่พี่หนุ่มกลับเสริมว่าความจริงแล้วทุกอย่างมีทั้งข้อดีและข้อเสีย และการเป็นนักเขียนคุณภาพต้องมองให้เห็นทั้งสองแง่มุม
เวลาสองชั่วโมงผ่านไปเร็วกว่าที่คิด ก่อนหน้านี้พวกเรานึกไม่ออกว่าการสอนเขียนหนังสือนั้นจะทำได้อย่างไร มันดูเป็นทักษะส่วนบุคคล แต่พี่หนุ่มสามารถถ่ายทอดหลักการเขียนให้เราเข้าใจอย่างง่ายดาย ทั้งหมดนี้น่าจะมาจากการลงมือทำจริงเป็นเวลายาวนาน จึงเชี่ยวชาญในการย่อยเรื่องยากให้ง่ายขึ้น และแบ่งปันให้เป็นประโยชน์กับพวกเรา
พี่หนุ่มย้ำว่า “ที่พูดให้ฟังเป็นข้อๆ แบบนี้ เพื่อให้พวกเราค่อยๆ ฝึกเป็นลำดับให้เชี่ยวชาญ”
และนี่คือสิ่งที่เราต้องทำ เปลี่ยนความฝันเป็นประสบการณ์ เปลี่ยนความรักในงานให้เป็นมืออาชีพ แบ่งปันความเข้าใจให้กันและกัน และเมื่อถึงจุดหนึ่ง เราก็ส่งผ่านประสบการณ์แก่คนรุ่นหลังต่อไป

East side story เมื่อยุโรปมืด – ตะวันออกหม่น
อาจกล่าวได้ว่าหนังสือ ‘ยุโรปมืด’ ของ ‘พีรพัฒน์ ตัณฑวณิช’ คือหนังสือที่นำเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์โดยเล่าเรื่องผ่านสถานที่ มากกว่าการเป็นหนังสือท่องเที่ยวที่แทรกเกร็ดประวัติศาสตร์

คุยกับ พีรพัฒน์ ตัณฑวณิช “ยุโรปมืด” แล้วเอเชียสว่างไหม
หลังจากเจ็ดปีในต่างแดน โดยเรียนปริญญาโทที่ญี่ปุ่นสองปี และต่อปริญญาเอกที่แคนาดาอีกห้าปี ตั๊บ-พีรพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์และนักเขียนเจ้าของผลงาน “ยุโรปมืด” กลับมาเมืองไทยพร้อมปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์การพัฒนา และปัจจุบันทำงานให้กับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หลังจากเราตีพิมพ์ต้นฉบับของเขาจนเป็น Best Seller มานาน วันนี้อะบุ๊กเพิ่งได้พบหน้าค่าตากัน เราจึงชวนเขามาคุยกันสารพัดเรื่อง ทั้งการเมือง เศรษฐศาสตร์ และสงครามโลก ที่หลายคนอยากรู้ว่าจะเกิดขึ้นอีกไหมในชั่วชีวิตนี้ (แทบ) ทุกราชวงศ์เป็นลูกหนี้ชาวยิว ในหนังสือผมพูดถึงชาวยิวซึ่งเป็นชนชาติที่ถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองไปมากมาย และในขณะเดียวกัน รู้ไหมครับว่าตระกูลที่มั่งคั่งที่สุดก็ยังคงเป็น House of Rothschild ซึ่งคือยิวเหมือนกัน รวยมานาน และยังคงรวยอยู่ เป็นเจ้าของสถาบันการเงิน มีอิทธิพลทางการเงินสูงมากต่อโลก ราชวงศ์ไหนเปิดสงครามก่อน เขาก็จะไฟแนนซ์อีกฝั่งหนึ่ง พูดง่ายๆ คือทุกราชวงศ์เนี่ยเป็นลูกหนี้เขาหมดเลย ไม่ทำสงครามเพราะกลัวจน หลายคนเชื่อว่าที่เราไม่รบกันเพราะทุกประเทศคำนึงถึงเศรษฐกิจ ผลประโยชน์อาจเป็นแรงผลักดันที่ดีที่ทำให้เราเลี่ยงสงคราม อย่างอะลีบาบาก็ไม่อยากให้อเมริกาเกิดสงคราม เพราะอะลีบาบาก็เทรดอยู่ในตลาดนิวยอร์ก จริงอยู่ เมื่อก่อนนายทุนค้าอาวุธย่อมสนับสนุนให้เกิดสงคราม แต่ตอนนี้ถ้าเป็นสงครามสเกลใหญ่ ผมไม่มั่นใจว่ามันจะดีกับเขาหรือเปล่านะ เขาอาจจะอยากให้มีสเกลเล็กแล้วทุ่มไปกับรีเสิร์ช เพราะทุกวันนี้ เวลารบกันมันไม่ใช่ทหารราบรบกันแล้วครับ มันเป็นการรบด้วยรีเสิร์ชเสียเยอะ จริงๆ ผมไม่ค่อยรู้เรื่องพวกนี้นะครับ แต่ความเชื่อส่วนตัว ผมคิดว่าชั่วชีวิตผมไม่น่าจะได้เห็นสงครามสเกลใหญ่ขนาดนั้นอีกแล้ว แต่สงครามเล็ก ๆ น้อย […]

ภาพถ่ายและตัวอักษรที่สะท้อนตัวตนของ ADDCANDID ในปกหนังสือ ‘A(dd)-perture’
พีรพัฒน์ วิมลรังครัตน์ หรือ ADDCANDID ช่างภาพมากฝีมือระดับ Leica Thailand Ambassador ได้มาออกหนังสือที่เล่าเรื่องราวหลังเลนส์กล้องของเขา เขาถ่ายทอดมันออกมาด้วยสำนวนภาษาขี้เล่นและอารมณ์ดี โดยมีภาพถ่ายที่สวยและจับจังหวะอย่างเฉียบคมของเขาเป็นส่วนประกอบ สองสิ่งนี้กลายเป็นแรงบันดาลใจเบื้องหลังการออกแบบปกของ ’29thwinter’ ที่ตีความทั้งสองอย่างออกมาในรูปแบบของเธอ “ปกเล่มนี้เริ่มจากการเลือกรูปกันในกอง โดยมีโจทย์ว่าต้องเป็นรูปที่แสดงถึงสไตล์การถ่ายรูปของผู้เขียนอย่างชัดเจน เราจึงพยายามเลือกรูปที่ให้ความรู้สึกของการถูก snap และมีความ candid ในแบบของเขา การเลือกรูปที่ใช่นั้นค่อนข้างยาก เพราะรูปถ่ายของเขาสวยหมดทุกรูปเลย แต่เซตภาพที่เราชอบมากที่สุดคือเซต ‘ปารีส’ โดยเฉพาะรูป ‘the kiss’ ที่สำหรับเรามันยังเป็นรูปที่ใช่เสมอ แม้ว่ามันจะเคยใช้เป็นปก photobook ของเขาไปแล้วก็ตาม การเลือกใช้ฟอนต์ต่างกันในชื่อหนังสือบนปก เพราะเราอยากให้มีลูกเล่นที่สื่อถึงคาแรคเตอร์ความเป็นกันเองของผู้เขียน ซึ่งสอดคล้องกับเนื้อหาสนุกๆ ด้านในเล่ม การวางชื่อพาดตรงกลางเป็นความตั้งใจให้ตัววงเล็บคาดตรงปากของทั้งสองคนพอดี เพื่อให้ภาพดูน่าค้นหามากยิ่งขึ้นจากการที่เราได้ปิดบังบางส่วนไป เมื่อเราได้รูปกับฟอนต์ที่พอดีแล้ว องค์ประกอบอื่นๆ และสีที่เลือกจึงใช้เท่าที่จำเป็น ด้วยแนวคิดที่อยากให้มันออกมาแบบ minimal แต่ดูโดดเด่นไม่จืดชืด” สั่งซื้อหนังสือ ‘A(dd)-perture’ โดย ADDCANDID ได้แล้วที่ https://godaypoets.com/product/add-perture/