Home / article / Cover Story / สานเส้นเป็นกระต่ายในร้านหนังสือ ‘London Book Sanctuary’
สานเส้นเป็นกระต่ายในร้านหนังสือ ‘London Book Sanctuary’
a book Publishing
Jun 13, 2019

เขียน: นพดล เลิศเอกสิริ
พิสูจน์อักษร: เบญจพร หรูวรวิจิตร
นาทีที่ได้เห็นภาพปกหนังสือ London Book Sanctuary สิ่งหนึ่งที่ดึงความสนใจเป็นอย่างมาก ก็คือเจ้ากระต่ายยักษ์สีขาวที่แอบซ่อนอยู่ในร้านหนังสือ มันแฝงความหมายอะไรหรือเปล่านะ แล้วมือของใครกันที่เปิดม่านไปเจอร้านหนังสือ ชวนให้คนต้องพลิกดูทั้งสองด้าน ก่อนจะเห็นว่าเจ้าของมือนั้นคือเด็กหญิงชุดฟ้าที่ดูเหมือนอลิซในแดนมหัศจรรย์ ชวนให้จินตนาการได้ว่าร้านหนังสือนี้คงมหัศจรรย์เหมือนโพรงกระต่ายของอลิซ การใช้ภาพที่ทรงพลังเพียงภาพเดียวหุ้มหนังสือทั้งเล่มในฐานะปกหน้าและปกหลัง และสร้างมิติน่าสนใจให้หนังสือได้ เป็นไอเดียไม่ธรรมดาของ กนิฐปัญณีย์ นิ่มศรีทอง หรือเอิง อาร์ตได-เร็กเตอร์ของสำนักพิมพ์อะบุ๊ก ส่วนฝีมือการวาดที่สวยคลาสสิกและแสนมีเสน่ห์นั้นเป็นของ ปีติชา คงฤทธิ์ หรือ ‘ฟาน.ปีติ’ ผู้ที่เป็นทั้งคนเขียนและคนวาด
เล่าเบื้องหลังของปกหนังสือเล่มนี้ให้ฟังหน่อย
เอิง: เราเห็นว่าฟานวาดภาพประกอบหนึ่งในเล่มเป็นรูปเด็กผู้หญิงเปิดม่าน แล้วเจอร้านหนังสือที่ซ่อนอยู่ในนั้น เราว่ามันเป็นกิมมิกที่น่ารักดี และแตกต่างจากปกส่วนใหญ่ที่เคยเห็นที่มักจะเป็นรูปแลนด์สเคปกว้างๆ ของร้านหนังสือจริง เราก็เลยคุยกับฟานว่า น่าจะขยายมาเป็นปกของเล่ม แล้วฟานก็ชอบ

ฟาน: ตัวหน้าปกพัฒนามาจากภาพประกอบด้านในที่เราวาดสำหรับร้านชื่อว่า Marchpane ค่ะ ร้านนี้เด่นเรื่อง Alice in Wonderland เพราะมีขายหนังสือเรื่องนี้หลายเวอร์ชัน และรูปนี้ก็ได้แรงบันดาลใจมาจากภาพหนึ่งในนิทานเรื่องนั้น เป็น
ภาพอลิซแหวกม่านไปเจอประตูเล็กๆ แล้วกำลังใช้กุญแจไขเข้าไปในแดนมหัศจรรย์ โดยเราปรับจากประตูเป็นร้านหนังสือ ส่วนเด็กผู้หญิงก็เปลี่ยนเป็นตัวเราที่ตามกระต่าย เข้าไปในร้านหนังสือแทนที่จะเป็นโพรง

ก่อนจะมาเป็นปกนี้ เห็นว่ามีไอเดียอื่นๆ ด้วย
เอิง: ภาพสเก็ตช์ที่ฟานเสนอตอนแรก ฟานอยากทำเป็นกรอบที่มีความเป็นอังกฤษ มีชื่ออยู่ตรงกลางสวยๆ แล้วมีคนอ่านหนังสือรอบๆ แต่เรารู้สึกว่าภาพนั้นไม่ค่อยทำให้นึกถึงร้านหนังสือขนาดนั้น เลยลองเสนอไอเดียอื่นๆ ว่า หรือเป็นภาพแลนด์สเคปของลอนดอน แล้วเติมคนอ่านหนังสือลงไป แต่ก็ยังรู้สึกว่ามันธรรมดาไป พอดีไปเห็นภาพประกอบร้านหนังสือร้านหนึ่งในเล่ม เลยตัดสินใจเลือกภาพนั้นกัน ซึ่งจริงๆ มันก็เสี่ยงนะ เพราะวาดแบบเดียวเลย ถ้ามันไม่เวิร์คเราก็ต้องรื้อใหม่หมด แต่จะให้ฟานไปวาดมาสามแบบแล้วคัดออกแบบปกกราฟิกปกติก็คงไม่ได้ (หัวเราะ) เพราะงานแบบฟานใช้เวลานาน เพราะเป็นงานที่มีรายละเอียดมาก

ลายเส้นที่เป็นเอกลักษณ์นี้มีที่มาอย่างไร
ฟาน: เราเริ่มชอบภาพประกอบแนวที่มีการสานเส้นเยอะๆ หรือทางเทคนิคเขาเรียกว่าภาพวาดด้วยการแรเส้นเงาขวาง (Cross Hatching) ซึ่งมันจะไปคล้ายๆ กับการพิมพ์เซาะร่อง (Engraving) ที่มักจะได้เห็นในงานศิลปะยุควิกตอเรีย ตั้งแต่ไปเรียนที่อังกฤษ คือเปิดโลกใหม่มาก เพราะภาพประกอบแนวนี้ไม่ค่อยมีในเมืองไทย เราเลยเสพอะไรแบบนี้เยอะ แล้วภาพสไตล์นี้มันเกิดขึ้นพร้อมกันกับการพิมพ์หนังสือ หรือถ้าสังเกตสิ่งพิมพ์ที่เป็นโฆษณาในยุคนั้นก็เป็นภาพแนวนี้ เป็นยุคที่หนังสือบูมขึ้นในลอนดอนพอดีเพราะผู้คนเข้าถึงได้มากขึ้น และเป็นสไตล์ที่เราชอบ ก็โป๊ะเชะเลย เลยตัดสินใจใช้ภาพโทนนี้เป็นภาพประกอบด้านใน

เอิง: ส่วนฟ้อนต์ ก็ใช้ลายเส้นที่ฟานถนัด โดยเขาใช้วิธีรีเสิร์ชฟ้อนต์สไตล์วินเทจหลายๆ แบบแล้วนำมาปรับให้เป็นฟ้อนต์แบบที่ตั้งใจและมันเข้ากับมู้ดของภาพพอดี

แล้วโทนสีและมู้ดของภาพที่ดูคลาสสิกล่ะ
ฟาน: เราเลือกโทนสีจากสถาปัตยกรรมจริงทั้งหมด อย่างสีเขียวเราก็ดึงมาจากร้านหนังสือชื่อ Daunt Books ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นร้านหนังสือที่สวยที่สุดในลอนดอน หรือผ้าม่าน เรานึกถึงการเปิดม่านในโรงละคร เลยรู้สึกว่าต้องใช้สีแดงประมาณนี้ จากนั้นก็หาคู่สีที่เข้ากัน ที่แสดงถึงความเป็นอังกฤษ ซึ่งจะเป็นโทนสีที่ไปทางตุ่นๆ หน่อย เหมือนสภาพอากาศที่นั่น ที่มักจะอึมครึม โทนสีทั้งหมดนี้ก็สอดคล้องกับแผนที่ประกอบในเล่มด้วย

ฟาน: และตอนแรกเราตั้งใจให้มันเป็นตอนกลางวัน แต่ไปๆ มาๆ พอใส่สปอตไลต์ไปที่หนังสือ มันเลยดูเป็นกลางคืน ได้มู้ดอีกแบบ แต่เวอร์ชันแรกยังไม่มีภาพคนบนชั้นสองของร้าน รู้สึกว่าดูเหงาไปหน่อย พอเติมคนเข้าไปก็เลยดูมีชีวิตชีวา เป็นปกที่เห็นในปัจจุบัน
ปกหน้าและปกหลังเป็นภาพเดียวกันใช่ไหม
ฟาน: ถ้าดูแค่ปกหน้าก็อาจจะแปลกใจหน่อย เพราะเหมือนมีมือยักษ์โผล่ออกมา แต่ถ้ากางออกจะเห็นว่าจริงๆ แล้วเป็นภาพเดียวต่อกัน

สั่งซื้อหนังสือ London Book Sanctuary โดย ฟาน.ปีติ ได้แล้วที่

East side story เมื่อยุโรปมืด – ตะวันออกหม่น
อาจกล่าวได้ว่าหนังสือ ‘ยุโรปมืด’ ของ ‘พีรพัฒน์ ตัณฑวณิช’ คือหนังสือที่นำเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์โดยเล่าเรื่องผ่านสถานที่ มากกว่าการเป็นหนังสือท่องเที่ยวที่แทรกเกร็ดประวัติศาสตร์

คุยกับ พีรพัฒน์ ตัณฑวณิช “ยุโรปมืด” แล้วเอเชียสว่างไหม
หลังจากเจ็ดปีในต่างแดน โดยเรียนปริญญาโทที่ญี่ปุ่นสองปี และต่อปริญญาเอกที่แคนาดาอีกห้าปี ตั๊บ-พีรพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์และนักเขียนเจ้าของผลงาน “ยุโรปมืด” กลับมาเมืองไทยพร้อมปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์การพัฒนา และปัจจุบันทำงานให้กับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หลังจากเราตีพิมพ์ต้นฉบับของเขาจนเป็น Best Seller มานาน วันนี้อะบุ๊กเพิ่งได้พบหน้าค่าตากัน เราจึงชวนเขามาคุยกันสารพัดเรื่อง ทั้งการเมือง เศรษฐศาสตร์ และสงครามโลก ที่หลายคนอยากรู้ว่าจะเกิดขึ้นอีกไหมในชั่วชีวิตนี้ (แทบ) ทุกราชวงศ์เป็นลูกหนี้ชาวยิว ในหนังสือผมพูดถึงชาวยิวซึ่งเป็นชนชาติที่ถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองไปมากมาย และในขณะเดียวกัน รู้ไหมครับว่าตระกูลที่มั่งคั่งที่สุดก็ยังคงเป็น House of Rothschild ซึ่งคือยิวเหมือนกัน รวยมานาน และยังคงรวยอยู่ เป็นเจ้าของสถาบันการเงิน มีอิทธิพลทางการเงินสูงมากต่อโลก ราชวงศ์ไหนเปิดสงครามก่อน เขาก็จะไฟแนนซ์อีกฝั่งหนึ่ง พูดง่ายๆ คือทุกราชวงศ์เนี่ยเป็นลูกหนี้เขาหมดเลย ไม่ทำสงครามเพราะกลัวจน หลายคนเชื่อว่าที่เราไม่รบกันเพราะทุกประเทศคำนึงถึงเศรษฐกิจ ผลประโยชน์อาจเป็นแรงผลักดันที่ดีที่ทำให้เราเลี่ยงสงคราม อย่างอะลีบาบาก็ไม่อยากให้อเมริกาเกิดสงคราม เพราะอะลีบาบาก็เทรดอยู่ในตลาดนิวยอร์ก จริงอยู่ เมื่อก่อนนายทุนค้าอาวุธย่อมสนับสนุนให้เกิดสงคราม แต่ตอนนี้ถ้าเป็นสงครามสเกลใหญ่ ผมไม่มั่นใจว่ามันจะดีกับเขาหรือเปล่านะ เขาอาจจะอยากให้มีสเกลเล็กแล้วทุ่มไปกับรีเสิร์ช เพราะทุกวันนี้ เวลารบกันมันไม่ใช่ทหารราบรบกันแล้วครับ มันเป็นการรบด้วยรีเสิร์ชเสียเยอะ จริงๆ ผมไม่ค่อยรู้เรื่องพวกนี้นะครับ แต่ความเชื่อส่วนตัว ผมคิดว่าชั่วชีวิตผมไม่น่าจะได้เห็นสงครามสเกลใหญ่ขนาดนั้นอีกแล้ว แต่สงครามเล็ก ๆ น้อย […]

ภาพถ่ายและตัวอักษรที่สะท้อนตัวตนของ ADDCANDID ในปกหนังสือ ‘A(dd)-perture’
พีรพัฒน์ วิมลรังครัตน์ หรือ ADDCANDID ช่างภาพมากฝีมือระดับ Leica Thailand Ambassador ได้มาออกหนังสือที่เล่าเรื่องราวหลังเลนส์กล้องของเขา เขาถ่ายทอดมันออกมาด้วยสำนวนภาษาขี้เล่นและอารมณ์ดี โดยมีภาพถ่ายที่สวยและจับจังหวะอย่างเฉียบคมของเขาเป็นส่วนประกอบ สองสิ่งนี้กลายเป็นแรงบันดาลใจเบื้องหลังการออกแบบปกของ ’29thwinter’ ที่ตีความทั้งสองอย่างออกมาในรูปแบบของเธอ “ปกเล่มนี้เริ่มจากการเลือกรูปกันในกอง โดยมีโจทย์ว่าต้องเป็นรูปที่แสดงถึงสไตล์การถ่ายรูปของผู้เขียนอย่างชัดเจน เราจึงพยายามเลือกรูปที่ให้ความรู้สึกของการถูก snap และมีความ candid ในแบบของเขา การเลือกรูปที่ใช่นั้นค่อนข้างยาก เพราะรูปถ่ายของเขาสวยหมดทุกรูปเลย แต่เซตภาพที่เราชอบมากที่สุดคือเซต ‘ปารีส’ โดยเฉพาะรูป ‘the kiss’ ที่สำหรับเรามันยังเป็นรูปที่ใช่เสมอ แม้ว่ามันจะเคยใช้เป็นปก photobook ของเขาไปแล้วก็ตาม การเลือกใช้ฟอนต์ต่างกันในชื่อหนังสือบนปก เพราะเราอยากให้มีลูกเล่นที่สื่อถึงคาแรคเตอร์ความเป็นกันเองของผู้เขียน ซึ่งสอดคล้องกับเนื้อหาสนุกๆ ด้านในเล่ม การวางชื่อพาดตรงกลางเป็นความตั้งใจให้ตัววงเล็บคาดตรงปากของทั้งสองคนพอดี เพื่อให้ภาพดูน่าค้นหามากยิ่งขึ้นจากการที่เราได้ปิดบังบางส่วนไป เมื่อเราได้รูปกับฟอนต์ที่พอดีแล้ว องค์ประกอบอื่นๆ และสีที่เลือกจึงใช้เท่าที่จำเป็น ด้วยแนวคิดที่อยากให้มันออกมาแบบ minimal แต่ดูโดดเด่นไม่จืดชืด” สั่งซื้อหนังสือ ‘A(dd)-perture’ โดย ADDCANDID ได้แล้วที่ https://godaypoets.com/product/add-perture/