fbpx

Home / article / ทอม แฮงก์ส กับบทบาทของนักเขียน ผู้มองเห็นความพิเศษในความเรียบง่าย

ทอม แฮงก์ส กับบทบาทของนักเขียน ผู้มองเห็นความพิเศษในความเรียบง่าย

a book Publishing

Jun 2, 2019

เขียน: ซัลมา อินทรประชา
พิสูจน์อักษร: เบญจพร หรูวรวิจิตร
ภาพ: REUTERS/Lucas Jackson, REUTERS/Carlo Allegri

“ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องลงมือเขียน ยกเว้นแต่ว่าความรู้สึกคันยุบยิบมันจะรบกวนเราไม่เลิก”

ตุลาคม ปี 2018 ทอม แฮงก์ส พูดถึงเหตุผลที่ ต้องเป็นนักเขียนในวัย 62 ปี ท่ามกลางผู้ฟัง 1,400 คน ในงาน Marcus Jewish Community Center of Atlanta (MJCCA)

ความรู้สึกข้างต้นอาจหมายถึงอาการคันไม้คันมือจากสิ่งค้างคาที่จะคอยรบกวนจิตใจ หากยังไม่ได้ลงมือทำ

ขณะที่แฮงก์สอยู่ในระหว่างการพักร้อน เขาอ่านเรื่องสั้นจาก The New Yorker และพบว่ามันน่าหลงใหลถึงขั้นสร้างแรงบันดาลใจให้เขาอยากเขียนเรื่องสั้นออกมา

นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องสั้นเรื่องแรกในชีวิตเขา อลัน บีน บวกสี่ (Alan Bean Plus Four)

อลัน บีน บวกสี่ (Alan Bean Plus Four) เล่าเรื่องราวกลุ่มเพื่อนที่อุกอาจสร้างยานมุ่งหน้าสู่ดวงจันทร์ ทุกอย่างเกิดขึ้นไหลลื่นภายใต้การเล่าเรื่องอย่างเรียบง่าย แต่ในความเรียบง่ายนั้นกลับเป็นประสบการณ์สุดพิเศษ ก็คิดดูว่าคนธรรมดาได้ไปดวงจันทร์เฉยเลย จังหวะแรกที่พวกเขาได้มองเห็นดวงจันทร์ในระยะใกล้ หรือช่วงเวลาที่บทเพลงคุ้นหูดังขึ้นตอนที่พวกเขาขับยานย้อนกลับไปที่โลก หรือแม้แต่ตอนที่พวกเขาสูดเอาอากาศเข้าไปเต็มปอดอีกครั้งเมื่อถึงผิวโลก ทั้งหมดนี้ถูกเล่าเป็นเหมือนเป็นเรื่องแสนจะธรรมดา

หลังจากที่แฮงก์สส่งเรื่องสั้นของเขาให้กับ The New Yorker พิจารณา เรื่องสั้นของเขาก็ได้รับการตีพิมพ์ พร้อมคำถามกึ่งชักชวนว่า “ทำเพิ่มอีกสัก 15 เรื่องได้มั้ย”  

คำตอบที่เราเดาได้เลยก็คือ  “ทำไมจะไม่ได้เล่า”

และนี่เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องสั้น 17 เรื่องจากหนังสือ UNCOMMON TYPE: some stories หรือในภาษาไทยคือ พิมพ์ (ไม่) นิยม

UNCOMMON TYPE: some stories พิมพ์ (ไม่) นิยม ฉบับภาษาไทย

“เป็นความรู้สึกที่ดีมากจริงๆ ที่ผมได้เขียนมันออกมา มีหลายเรื่องที่ติดอยู่ในหัวของผม และมันคอยสะกิดใจผมมาตลอดหลายปี หลังจากใช้เวลาเรียบเรียงเรื่องราวด้วยความประณีตถี่ถ้วน ผลลัพธ์ก็ออกมาเป็นหนังสือเล่มนี้”

“คุณไม่สามารถถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ขณะเป็นนักแสดงได้หรือ” นักข่าวตั้งคำถาม
“ไม่ได้…ช่วงเวลาแห่งการพบปะผู้คนผ่านการสัมภาษณ์ เป็นช่วงเวลาที่จำกัด ผู้คนต้องการฟังในสิ่งที่เขาต้องการฟังเท่านั้น จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่ผมจะสามารถเล่าเรื่องราวอื่นนอกเหนือจากสิ่งที่เขาสนใจจะรู้”

ด้วยเครดิตรางวัลนักแสดงนำออสการ์ถึงสองครั้งจาก Philadelphia (1993) และ Forrest Gump (1994) รวมถึงอีกหลายครั้งหลายคราที่ภาพยนตร์ซึ่งมีนาม ทอม แฮงก์ส เชิดหน้าชูโรงได้สร้างความหวังและแรงบันดาลใจมากมายให้กับคนดู หลายคนร้องไห้เมื่อถึงตอนจบของ Saving Private Ryan (1998) หรือความเต็มตื้นในลำคอเมื่อ The Terminal (2004) จบลง และ Captain Phillips (2013) ทำให้เราได้เห็นผู้ที่กล้าหาญในสถานการณ์แห่งความเป็นจริง

ทอม แฮงส์ก ในงานโปรโมตหนังสือ UNCOMMON TYPE: some stories ในนิวยอร์ก

ตัวละครของทอม แฮงก์ส

ความสำเร็จในอาชีพนักแสดงของแฮงก์ส ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะแค่พรสวรรค์กับความทุ่มเท แต่เพราะการเลือกปรากฏตัวในบทบาทที่ ‘ดีงาม’ ตามแบบอเมริกันชน อย่างการมองโลกในแง่บวกพร้อมอารมณ์ขันอันล้นเหลือที่เหมาะสมต่อสถานการณ์ที่เหมือนสิ้นหวัง

ตัวตนเหล่านี้สะท้อนลงในเรื่องสั้นทั้ง 17 เรื่อง ระหว่างที่แฮงก์สใช้เวลาหลายปีเขียนขึ้นระหว่างช่วงพักจากการแสดง

แน่นอน ความอบอุ่นและความเรียบง่ายของแฮงก์ส ปรากฏอยู่ในทุกหน้าหนังสือ ตัวละครใน พิมพ์ (ไม่) นิยม นั้นเต็มไปด้วยอารมณ์ขันแม้ในสถานการณ์ที่มืดมน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของความไม่เข้ากันระหว่างเพื่อนที่พยายามลองเป็นคู่รัก ช่วงเวลาของผู้ย้ายถิ่นที่พยายามลงหลักปักฐานในเมืองใหม่ หรือครอบครัวที่กำลังแตกสลาย โดยมีฉากหลังเป็นสังคมแบบอเมริกัน ซึ่งทำให้ผู้อ่านรู้สึกเกี่ยวพันกับเรื่องราวได้ไม่ยาก

หนึ่งในนั้นคือ ไปหาคอสตัส (Go See Costas) เล่าเรื่องราวที่ตรากตรำของชายชาวบัลแกเรียผู้มาจากกรีซ ที่ยอมทำงานหนักบนเรือส่งสินค้าเปื้อนน้ำมันอย่างเจียมเนื้อเจียมตัว แลกกับการลักลอบพาเพื่อนขึ้นเรือ เพื่อไปเสี่ยงโชคชะตาบนแผ่นดินใหม่อย่างสหรัฐอเมริกา พวกเขาต้องแยกจากกันอย่างไม่รู้ว่าจะได้เจอกันอีกหรือไม่ ความเจริญเหนือจินตนาการของมหานครนิวยอร์กในสายตาชายต่างถิ่นตัวเปล่า การรอนแรมยามค่ำคืนตามสวนสาธารณะ และการเทียวไล้เทียวขื่อของานทำอย่างไม่มีตัวเลือกกับเจ้าของร้านอาหารที่ใช้คำพูดรุนแรงหยามเหยียด กระนั้นทั้งหมดนี้ก็เทียบไม่ได้เลยกับช่วงชีวิตก่อนหน้าที่เขาดิ้นรนและสูญเสีย เพื่อจากบัลแกเรียมาสู่กรีซ และจากกรีซมาสู่แผ่นดินใหม่…มาสู่ชีวิตใหม่

เรื่องนี้ได้แรงบันดาลใจจากพ่อเลี้ยงของแฮงก์สเอง ที่จากประเทศกรีซมาตั้งรกรากใหม่ในสหรัฐอเมริกา แฮงก์สสามารถถ่ายทอดเรื่องราวออกมาได้อย่างละเอียดลออ จนเราสัมผัสได้ถึงชีวิตที่เต็มไปด้วยความอดทนอดกลั้นเช่นนั้น

ทำไมถึงต้องเป็นเครื่องพิมพ์ดีด

ในทุกบทของเล่มนี้มีเครื่องพิมพ์ดีดเป็นองค์ประกอบของเรื่อง และนั่นอาจนำมาสู่คำถามว่าทำไม เหตุผลก็คือทอม แฮงก์ส เป็นชายผู้คลั่งไคล้เครื่องพิมพ์ดีด เมื่อเขามีโอกาสได้เขียนหนังสือของตัวเอง เขาจึงใส่องค์ประกอบของ ของสะสมสุดรัก ลงไปในหนังสือ เครื่องพิมพ์ดีดที่นอกจากจะเป็นองค์ประกอบหลักบนหน้าปกหนังสือแล้ว ยังมีส่วนในการกำหนดโทนของเรื่องราวทั้งเล่ม

“ในบางตอนผมก็ใช้มันเป็นเหมือนตัวหลัก และในบางตอนก็ให้มันผ่านมาเพียงผิวเผิน หรือบางตอนก็เป็นเหมือนสาส์นลับ (Easter Egg) ที่ทิ้งไว้ตามจุดต่างๆ ในเล่ม ซึ่งต้องมองหามันอย่างจริงจังซักหน่อยนะเออ” แฮงก์สทิ้งคำพูดเป็นนัย

ช่วงหนึ่งของการให้สัมภาษณ์ แฮงก์สยกคำพูดของ คาร์ล เซแกน นักดาราศาสตร์ชาวอเมริกันที่พูดถึงความมหัศจรรย์ของหนังสือว่า “หนังสือเป็นเหมือนสิ่งที่สร้างขึ้นจากเวทมนตร์ ทั้งที่มันเป็นแค่ภาพสองมิติ เป็นเพียงเส้นขยุกขยิกบนหน้ากระดาษ แต่กลับสามารถเข้าไปในใจผู้คนได้” ก่อนตบท้ายว่า เช่นเดียวกับหนังสือของเขา UNCOMMON TYPE: some stories หรือ พิมพ์ (ไม่) นิยม

Pre-order หนังสือ UNCOMMON TYPE: some stories พิมพ์ (ไม่) นิยม  ได้เแล้วที่ https://godaypoets.com/product/uncommon-type/

อ้างอิง

East side story เมื่อยุโรปมืด – ตะวันออกหม่น

อาจกล่าวได้ว่าหนังสือ ‘ยุโรปมืด’ ของ ‘พีรพัฒน์ ตัณฑวณิช’ คือหนังสือที่นำเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์โดยเล่าเรื่องผ่านสถานที่ มากกว่าการเป็นหนังสือท่องเที่ยวที่แทรกเกร็ดประวัติศาสตร์

view more

คุยกับ พีรพัฒน์ ตัณฑวณิช “ยุโรปมืด” แล้วเอเชียสว่างไหม

หลังจากเจ็ดปีในต่างแดน โดยเรียนปริญญาโทที่ญี่ปุ่นสองปี และต่อปริญญาเอกที่แคนาดาอีกห้าปี ตั๊บ-พีรพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์และนักเขียนเจ้าของผลงาน “ยุโรปมืด” กลับมาเมืองไทยพร้อมปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์การพัฒนา และปัจจุบันทำงานให้กับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หลังจากเราตีพิมพ์ต้นฉบับของเขาจนเป็น Best Seller มานาน วันนี้อะบุ๊กเพิ่งได้พบหน้าค่าตากัน เราจึงชวนเขามาคุยกันสารพัดเรื่อง ทั้งการเมือง เศรษฐศาสตร์ และสงครามโลก ที่หลายคนอยากรู้ว่าจะเกิดขึ้นอีกไหมในชั่วชีวิตนี้ (แทบ) ทุกราชวงศ์เป็นลูกหนี้ชาวยิว ในหนังสือผมพูดถึงชาวยิวซึ่งเป็นชนชาติที่ถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองไปมากมาย และในขณะเดียวกัน รู้ไหมครับว่าตระกูลที่มั่งคั่งที่สุดก็ยังคงเป็น House of Rothschild ซึ่งคือยิวเหมือนกัน รวยมานาน และยังคงรวยอยู่ เป็นเจ้าของสถาบันการเงิน มีอิทธิพลทางการเงินสูงมากต่อโลก ราชวงศ์ไหนเปิดสงครามก่อน เขาก็จะไฟแนนซ์อีกฝั่งหนึ่ง พูดง่ายๆ คือทุกราชวงศ์เนี่ยเป็นลูกหนี้เขาหมดเลย ไม่ทำสงครามเพราะกลัวจน หลายคนเชื่อว่าที่เราไม่รบกันเพราะทุกประเทศคำนึงถึงเศรษฐกิจ ผลประโยชน์อาจเป็นแรงผลักดันที่ดีที่ทำให้เราเลี่ยงสงคราม อย่างอะลีบาบาก็ไม่อยากให้อเมริกาเกิดสงคราม เพราะอะลีบาบาก็เทรดอยู่ในตลาดนิวยอร์ก จริงอยู่ เมื่อก่อนนายทุนค้าอาวุธย่อมสนับสนุนให้เกิดสงคราม แต่ตอนนี้ถ้าเป็นสงครามสเกลใหญ่ ผมไม่มั่นใจว่ามันจะดีกับเขาหรือเปล่านะ เขาอาจจะอยากให้มีสเกลเล็กแล้วทุ่มไปกับรีเสิร์ช เพราะทุกวันนี้ เวลารบกันมันไม่ใช่ทหารราบรบกันแล้วครับ มันเป็นการรบด้วยรีเสิร์ชเสียเยอะ จริงๆ ผมไม่ค่อยรู้เรื่องพวกนี้นะครับ แต่ความเชื่อส่วนตัว ผมคิดว่าชั่วชีวิตผมไม่น่าจะได้เห็นสงครามสเกลใหญ่ขนาดนั้นอีกแล้ว แต่สงครามเล็ก ๆ น้อย […]

view more

ภาพถ่ายและตัวอักษรที่สะท้อนตัวตนของ ADDCANDID ในปกหนังสือ ‘A(dd)-perture’

พีรพัฒน์ วิมลรังครัตน์ หรือ ADDCANDID ช่างภาพมากฝีมือระดับ Leica Thailand Ambassador ได้มาออกหนังสือที่เล่าเรื่องราวหลังเลนส์กล้องของเขา เขาถ่ายทอดมันออกมาด้วยสำนวนภาษาขี้เล่นและอารมณ์ดี โดยมีภาพถ่ายที่สวยและจับจังหวะอย่างเฉียบคมของเขาเป็นส่วนประกอบ สองสิ่งนี้กลายเป็นแรงบันดาลใจเบื้องหลังการออกแบบปกของ ’29thwinter’ ที่ตีความทั้งสองอย่างออกมาในรูปแบบของเธอ “ปกเล่มนี้เริ่มจากการเลือกรูปกันในกอง โดยมีโจทย์ว่าต้องเป็นรูปที่แสดงถึงสไตล์การถ่ายรูปของผู้เขียนอย่างชัดเจน เราจึงพยายามเลือกรูปที่ให้ความรู้สึกของการถูก snap และมีความ candid ในแบบของเขา การเลือกรูปที่ใช่นั้นค่อนข้างยาก เพราะรูปถ่ายของเขาสวยหมดทุกรูปเลย แต่เซตภาพที่เราชอบมากที่สุดคือเซต ‘ปารีส’ โดยเฉพาะรูป ‘the kiss’ ที่สำหรับเรามันยังเป็นรูปที่ใช่เสมอ แม้ว่ามันจะเคยใช้เป็นปก photobook ของเขาไปแล้วก็ตาม  การเลือกใช้ฟอนต์ต่างกันในชื่อหนังสือบนปก เพราะเราอยากให้มีลูกเล่นที่สื่อถึงคาแรคเตอร์ความเป็นกันเองของผู้เขียน ซึ่งสอดคล้องกับเนื้อหาสนุกๆ ด้านในเล่ม การวางชื่อพาดตรงกลางเป็นความตั้งใจให้ตัววงเล็บคาดตรงปากของทั้งสองคนพอดี เพื่อให้ภาพดูน่าค้นหามากยิ่งขึ้นจากการที่เราได้ปิดบังบางส่วนไป เมื่อเราได้รูปกับฟอนต์ที่พอดีแล้ว องค์ประกอบอื่นๆ และสีที่เลือกจึงใช้เท่าที่จำเป็น ด้วยแนวคิดที่อยากให้มันออกมาแบบ minimal แต่ดูโดดเด่นไม่จืดชืด” สั่งซื้อหนังสือ ‘A(dd)-perture’ โดย ADDCANDID ได้แล้วที่ https://godaypoets.com/product/add-perture/

view more